“นพดล ปัทมะ” ย้ำรัฐบาลควรใส่ใจข้อเสนอแก้ไขปัญหาโรคระบาดไวรัสโคโรนา-19 ของพรรคเพื่อไทย
1 กุมภาพันธ์ 2564 นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการนโยบายฯ พรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีที่สถาบันวิชาการจากประเทศออสเตรเลียจัดอันดับให้ไทยอยู่ลำดับ 4 ของโลกในการจัดการแก้ปัญหาโควิดนั้นรัฐบาลอย่าพึ่งนิ่งนอนใจ เนื่องจากการระบาดรอบสองนี้ชาวบ้าน คนทำงาน เจ้าของกิจการขนาดเล็กเดือดร้อนมาก ที่ต้องตกงาน ปิดกิจการ และพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอมาตรการในการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง แต่หลายมาตรการไม่ได้ดำเนินการ เช่นการเยียวยาคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน การแก้กฎหมายให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SME) ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้จริงและง่ายขึ้น รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการคงการจ้างงาน เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยซึ่งกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อช่วยประชาชนที่เดือดร้อน
ไม่อยากให้ภาครัฐเพลินกับตัวเลขการจัดอันดับการรับมือโควิด จนพลาดที่จะใส่ใจตัวเลขการจัดอันดับขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งน่าเป็นห่วงจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูและวางรากฐานให้ประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งตัวเลขการจัดอันดับที่สำคัญระดับโลกยังมีความน่ากังวล โดยเฉพาะ 1) ตัวเลขการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2563 โดย IMD ซึ่งลำดับของไทยลดลงจากอันดับที่ 25 ในปี 2562 มาอยู่ที่อันดับ 29 ในปี 2563 โดยลดลง 4 อันดับ ซึ่งถ้าดูในรายละเอียดอันดับประสิทธิภาพของภาครัฐลดลง สวนทางกับอันดับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาจริงว่าจะเพิ่มอันดับความสามารถในการแข่งขันในปีนี้ได้อย่างไร
2) ในเรื่องทุนมนุษย์และการศึกษาของไทยยังน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยดูได้จากการทดสอบนานาชาติที่เรียกว่า PISA ผลการทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และการอ่านของนักเรียนไทยครั้งล่าสุดในปี 2561 ลดต่ำลงกว่าการทดสอบในปี 2555 เวลา 6 ปีผ่านไปคะแนนไหลลดลง
3) อีกเรื่องที่น่ากังวลที่ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันได้เต็มที่ คือการสื่อสารภาษาสากลที่ใช้ทั่วโลกเพื่อใช้แสวงหาความรู้และค้าขายกับต่างชาติคือการใช้ภาษาอังกฤษที่การจัดอันดับในปี 2563 อันดับไทยร่วงลงจากอันดับที่ 74 ในปี 2562 หล่นไปที่อันดับ 89 ในปี 2563 ลดลงถึง 15 อันดับในปีเดียว
“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ตระหนัก และหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญดังกล่าว เนื่องจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาจะกระทบต่อประโยชน์และอนาคตของชาติ อย่างน้อยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องยอมรับว่ามีปัญหา แล้วเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขและเอาใจใส่ติดตาม ซึ่งจะสำเร็จหรือล้มเหลวจะถูกชี้วัดโดยตัวเลขการจัดอันดับครั้งต่อไป ไม่มีช่องให้ใช้วาทกรรมทางการเมืองแก้ตัวใดๆ ได้”