พรรคเพื่อไทยชี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงานรัฐบาลตามปกติ แต่การปิดกั้นการตรวจสอบไม่ให้อภิปรายต่างหากที่ผิดปกติ
(11 กุมภาพันธ์ 2564) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พปชร.และคณะ ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ส่งญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ญัตติดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น
นายชวลิต กล่าวว่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ขอท้วงติงคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเป็นผู้นำในการยื่นญัตติดังกล่าวว่า ท่านและคณะกำลังทำลายระบบรัฐสภาเสียหายอย่างยับเยินด้วยเหตุผล ดังนี้
- ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้อำนาจสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 16 – 19 กุมภาพันธ์ และลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งก็แสดงว่า ตั้งแต่ฝ่ายประจำของสภา ฯ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนถึงท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเอง มีความเห็นพ้องกันว่าญัตติ ฯ ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับการประชุมสภา ฯ ท่านประธานสภา ฯ จึงใช้อำนาจสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมดังกล่าว
- ในการประชุมสภา ฯ ท่านประธานสภา ฯ สามารถควบคุมการประชุมให้อยู่ในข้อบังคับการประชุมได้อยู่แล้ว ผู้ใดทำผิดข้อบังคับ ท่านประธานสามารถสั่งให้หยุด หรือสั่งให้ออกจากห้องประชุมได้ และผู้อภิปรายผู้นั้นยังต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อคำอภิปรายของตนหากกล่าวถึงบุคคลนอกให้เสียหายย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง
- การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นหลักถ่วงดุลอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย การตรวจสอบรัฐบาลในการปฏิบัติราชการถือเป็นเรื่องปกติ การปิดกั้นการตรวจสอบต่างหาก ที่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ
นายชวลิต กล่าวว่า คุณไพบูลย์ ฯ และคณะ เพิ่งยื่นญัตติในทำนองคล้ายกันขอให้รัฐสภามีมติส่งญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ปรากฎว่า พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งแทนที่จะเห็นด้วยกับพรรคแกนนำรัฐบาลกลับเห็นด้วยกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติคัดค้านไม่เห็นด้วยกับญัตติของคุณไพบูลย์ ฯ และคณะ แต่ก็ต้องแพ้ต่อเสียงข้างมาก คือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.และ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเห็นภาพชัดเจนว่า การสืบทอดอำนาจของ คสช.ยังดำรงอยู่ อันจะสั่งผลต่อการขาดความเชื่อมั่นประเทศอย่างร้ายแรงตามมา
“จึงขอท้วงติงด้วยความหวังดีต่อบ้านเมืองว่า ขอให้คุณไพบูลย์ฯ และคณะไตร่ตรองให้รอบคอบ โปรดอย่าทำลายระบบรัฐสภาซ้ำสองในเวลาติด ๆ กัน ขอให้ถอนญัตติดังกล่าวเสีย อย่าให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งแทนที่จะอภิปรายในสภา ฯ มีเงื่อนไขที่อ้างได้ว่าต้องไปอภิปรายบนท้องถนนแทน เพราะคุณไพบูลย์ ฯ และคณะปิดกั้นการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย” นายชวลิต กล่าวสรุป