พรรคร่วมฝ่ายค้าน ชี้ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ แนะเดินหน้าพิจารณาวาระ 3
(8 มีนาคม 2564) ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงข่าวสรุปประเด็นที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านรวม 3 ประเด็นคือความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบทุจริตรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประเด็นการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการลงประชามติ และ ประเด็นอำนาจรัฐสภาที่อยู่ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นรัฐมนตรีที่ถูกยื่นตรวจสอบรวมทั้งสิ้น 7 คน คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย/ โดยขณะนี้ ฝ่ายกฎหมายได้ทยอยเตรียมคำร้องเสร็จสิ้นไปแล้วบางส่วน และบางส่วนกำลังทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยจะทยอยยื่นรายชื่อต่อหน่วยงานหรือองค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ใครพร้อมก่อนก็จะยื่นก่อนโดยที่ประชุมจะได้ทยอยกลั่นกรองในขั้นตอนสุดท้าย และจะแจ้งให้สื่อมวลชนได้ทราบต่อไป แต่ทั้งหมดจะทยอยยื่นให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคมนี้
- พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอเพิ่มถ้อยคำสำคัญคือ “จัดทำประชามติด้วยความเสรีและเสมอภาค” เนื่องจากเดิมถ้อยคำในร่างเดิมของรัฐบาล คือเสนอให้ทำประชามติ “โดยสุจริตเที่ยงธรรม” ซึ่งฝ่ายค้านเห็นว่าอาจไม่เพียงพอเพราะไม่สามารถบอกได้ว่าสุจริตและเที่ยงธรรมแค่ไหนเพียงใด พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเสนอเพิ่มถ้อยคำว่า “จัดทำประชามติด้วยความเสรีเสมอภาค” เพราะการจัดทำประชามติที่ผ่านมาไม่เคยมีความเสรี และไม่เคยมีความเสมอภาคจนมีคดีความฟ้องร้องอยู่บ่อยครั้ง
- พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่าประชามติไม่ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ประชาชนได้ร่วมรณรงค์เชิญชวน ใครรณรงค์หรือเชิญชวนกลับกลายมีความผิดข้อหาสร้างความวุ่นวาย พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเสนอหลักการว่า “ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ประชาชน องค์กรเอกชน ตัวแทนกลุ่มประชาชนทุกกลุ่ม ได้รณรงค์ประชามติได้อย่างเต็มที่ในทุกด้าน โดยถือว่าสิทธิการรณรงค์ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ”
- พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่าการออกเสียงควรเปิดกว้าง “ให้มีการออกเสียงประชามติสำหรับประชาชนนอกเขตเลือกตั้ง” และ “สามารถออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร” ทำได้เหมือนตอนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่าการลงคะแนนปกติแต่เดิมมีแค่การกาบัตรลงประชามติ แต่ครั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้ใช้วิธีอื่นใดได้ เช่น วิธีการทางไปรษณีย์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใด
- การกำหนดความผิดและโทษในการประชามติ แต่เดิมมีการตีความกว้างขวาง มีการแจ้งข้อกล่าวหาแบบครอบจักรวาล เช่นคำว่า การก่อความวุ่นวาย ซึ่งไม่ชัดเจน เพราะแค่การแจกเอกสารณรรงค์ก็ถูกตีความให้เป็นความผิดก่อความวุ่นวายแล้ว พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอให้ตัดข้อความระบุโทษที่คลุมเครือไม่ชัดเจนออก
ส่วนประเด็นที่เหลือก็จะให้ ส.ส.ไปใช้อภิปรายแปรญัตติในวาระ 2 ต่อไป
นายชูศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม ถึงประเด็นสุดท้าย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ที่กำลังอยู่ในกระบวนการของศาลว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านของสงวนท่าที รอฟังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวก่อน และมีคำวินิจฉัยแล้ว จะแสดงท่าทีภายหลังจากคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ ฝ่ายค้านหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะได้วินิจฉัยในทางเป็นคุณแก่ประเทศ โดยต้องไม่ลืมว่าทุกฝ่ายต่างเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในทำนองเดียวกันคือ ทั้งแก้ไขรายมาตราและยกร่างใหม่ด้วยกระบวนการ ส.ส.ร. ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาต้องยกร่างใหม่เพื่อให้ประเทศเดินหน้า
“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างนี้ถือหลักอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน คือเมื่อแก้ไขผ่านวาระ 3 แล้วต้องนำไปขอประชามติจากประชาชน เมื่อผ่านจึงค่อยตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างเสร็จ ก็ยังนำกลับไปให้ประชาชนประชามติอีกรอบ เท่ากับประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มีนาคมนี้จะเป็นอย่างไร แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาวาระ 3 ยังควรต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อยืนยันหลักการอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา” นายชูศักดิ์ กล่าว