เดินหน้า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ความเห็นหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล

(11 มีนาคม 2564) รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จต้องนำไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งว่าจะเห็นชอบหรือไม่นั้น เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายจับตามอง เพราะจะชี้ถึงโอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่จัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน รศ.ชูศักดิ์ แสดงความเห็นในมุมมองของนักกฎหมายว่า

  1. สิ่งที่รัฐสภาได้ดำเนินการมาทั้งหมดจนถึงขณะนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คือมีการให้สอบถามประชาชนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้วก็ถามประชาชนอีกครั้งว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้นที่ประชุมรัฐสภา ควรจะเดินหน้าประชุมพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสามต่อไป เมื่อผ่านวาระสามแล้วก็นำไปทำประชามติสอบถามประชาชนอีกครั้ง
    .
  2. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ได้กำหนดให้มี “ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เมื่อผ่านประชามติแสดงว่า ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญยินยอมอนุญาตให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยวิธีนี้
    .
  3. หลายคนยังสับสนเรื่องลำดับขั้นตอน ก่อนจะมี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ ต้องมีรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้มี ส.ส.ร. ประกาศใช้เสียก่อน ดังนั้นเมื่อผ่านประชามติครั้งที่ 1 เราจะมี “รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขเพิ่มเติม” ซึ่งจะมีวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติไว้ นำไปสู่ขั้นตอนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. โดยประชาชน และเมื่อได้ ส.ส.ร.มาแล้ว ก็มา “ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ให้เสร็จภายใน 240 วัน

3.1 เมื่อ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ก็นำ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ไปทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสอบถามความเห็นชอบจากประชาชน ถ้าประชามติผ่านถึงจะนำไปสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
.

  1. กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา256(8) เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

4.1 กรณีมีผู้พยายามตีความว่า ก่อนดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เข้าสู่รัฐสภาในวาระที่ 1 จะต้องขอความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อนว่า ต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่า ประชามติที่จะทำกันนั้น จะเป็นการไปสอบถามประชาชนเพียงว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาอย่างไร ใครจะเป็นผู้จัดทำ สำคัญจะริเริ่มทำประชามติอย่างไร ใช้บทบัญญัติกฎหมายข้อใด
.

  1. สิ่งที่อยากเน้นย้ำก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยต้องขอประชามติจากประชาชน ที่ดำเนินการอยู่นี้นั้น ล้วนเป็นไปตามที่กล่าวมาทั้งสิ้น