โฆษก กมธ.การศึกษา ยืนยันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับประยุทธ์ ชี้กดทับการศึกษาไทยล้าหลังก้าวไม่ทันโลก
(18 พฤษภาคม 2564) นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้องค์กรวิชาชีพด้านการศึกษารวม 268 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรัฐบาลกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับดังกล่าว ไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของโลก อีกทั้งยังมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดการรวบอำนาจจนเคยชินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงอยากให้สภานำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขและพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและได้รับการยอมรับจาก ค.อ.ท. นำมาพิจารณาร่วมด้วย
สำหรับเนื้อหาและรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับคณะกรรมาธิการการศึกษา นายวันนิวัติ กล่าวว่า มี 9 ข้อเสนอที่มุ่งเน้นกระจายอำนาจการจัดการศึกษาตามแต่ละพื้นที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นบุคลากรทางการศึกษา โดยมีข้อเสนอที่แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาที่พลเอกประยุทธ์จะนำเข้าสู่สภา เช่น ข้อเสนอข้อที่ 3 คือ ให้มีการจัดระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นคณะบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการที่เป็นเอกภาพและสามารถบูรณาการได้ โดยต้องเพิ่มบทบาทและกระจายอำนาจให้คณะกรรมการสถานศึกษาให้มีส่วนจัดการศึกษา กำกับ ดูแลคุณภาพสถานศึกษา รวมถึงกำหนดนโยบาย เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ร่วมรับผิดชอบผลของการจัดการศึกษา โดยข้อเสนอนี้เพื่อต้องการลดบทบาทกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการรวบอำนาจสถานศึกษาไว้ที่ส่วนกลางและครูนักบริหาร เพราะในความเป็นจริงสถานศึกษามีสถานะเป็นนิติบุคคล มีเขตการศึกษาในการดูแลและแนะนำการจัดการศึกษาอยู่แล้ว แต่ขณะนี้มีการตั้งศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการระดับภาค กำกับการทำงานของครอบเขตการศึกษาอีก ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่กดทับการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีลักษณะและบริบทที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอข้อที่ 5 ให้มีการกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เทียบเท่าสากล ให้สามารถดำรงชีวิตเป็นพลเมืองและพลโลกที่มีคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอนี้ไม่มีในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาที่กำลังจะนำเข้าสู่สภา คณะกรรมาธิการการศึกษาจึงอยากให้สภานำ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับของคณะกรรมาธิการการศึกษา นำไปเข้าสู่การพิจารณาควบคู่กับฉบับของรัฐบาล เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของครูและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย
“พ.ร.บ.การศึกษา ของพลเอกประยุทธ์ อาจลดทอนการเติบโตและแรงจูงใจของคนรุ่นใหม่ที่จะอาสาเข้ามาในระบบการศึกษา ขณะที่ในเนื้อหาของกฎหมายการศึกษาไม่มีตัวแทนครู และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่สอดรับกับแนวโน้มการศึกษาของไทยในอนาคต อาจกระทบต่อการศึกษาของชาติทำให้เด็กไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ยาก” นายวันนิวัติกล่าว