น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติผิดมิชอบ หรือ กรรมาธิการ ปปช. สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3โครงการ ได้แก่
โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องการทางอากาศ ระยะที่ 7 ( N-SOC C2)
โครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD)
และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ มูลค่ารวมเกือบ 3 พันล้านบาท
ว่า คณะกรรมาธิการได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจาก ทอ.มาชี้แจงแล้ว 2 ครั้ง และยังอยู่ระหว่างการเชิญผู้แทนจาก ทอ.ที่เกี่ยวข้องมาแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก โดยในเบื้องต้น ผู้แทนจาก ทอ.ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรืองานที่จะจ้าง (TOR) ทั้ง 3 ท่าน ยอมรับว่ามีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของ SOPR และ TOR จริง และยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำไปตามสั่งการของ ผบ.ทอ. มิได้กระทำขึ้นโดยพลการแต่อย่างใด และการดำเนินการดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันจากฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาว่าสามารถกระทำได้ เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และสาระสำคัญแต่ประการใด
โดยเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศที่รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างยืนยันว่าได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วว่าสามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตามที่ ผบ.ทอ.ต้องการได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคณะกรรมาธิการขอดูหนังสือราชการที่ ทอ.หารือไปยังกรมบัญชีกลาง เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศตอบแต่เพียงว่าไม่ได้มีการทำหนังสือสอบถามไปเป็นทางการ เป็นแต่เพียงการยกหูโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาเท่านั้น
ดังนั้น ประเด็นนี้จึงทำให้คณะกรรมาธิการยังไม่สามารถเชื่อได้ว่า การดำเนินการเปลี่ยนแปลง SOPR และ TOR ตามสั่งการของ ผบ.ทอ.นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะยังไม่มีความเห็นของหน่วยงานรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ อีกทั้ง ทอ.ยังไม่มีหนังสือยืนยันจากสำนักงบประมาณซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 64 และคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณปี 64 (ครุภัณฑ์) ระบุว่า ทอ.สามารถเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของโครงการได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ต้องเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ มาตอบข้อซักถามและแถลงข้อเท็จจริงในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่ผู้แทนจาก ทอ.ชี้แจงว่า การที่ ผบ.ทอ.ท่านปัจจุบันต้องสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลง SOPR และ TOR ของ 3 โครงการดังกล่าว เป็นเพราะของเดิมที่ทำไว้ในสมัยอดีต ผบ.ทอ.ท่านที่แล้ว เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ และอาจขัดต่อกฎหมาย จึงจำเป็นต้องแก้ไขนั้น น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า เมื่อผู้แทน ทอ.ชี้แจงมาเช่นนี้ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเท่ากับยอมรับว่ามีผู้ที่ดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย แต่จะเป็นของเดิมหรือของใหม่นั้น ก็คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคณะกรรมาธิการฯได้มีมติเชิญ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. เข้าชี้แจงในประเด็นที่ถูกพาดพิงทั้งหมดต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้แทน ทอ.ชี้แจงว่าโครงการทั้ง 3 โครงการซึ่งระบุวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของโครงการที่ผ่านรัฐสภาจนออกเป็นกฎหมายเรียบร้อยนั้นขัดต่อกฎหมายเสียเอง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่ได้เป็นการกล่าวหาเฉพาะกระบวนการภายในของ ทอ. และข้าราชการระดับสูงของ ทอ.เท่านั้น แต่เป็นการกล่าวหาผู้ที่อยู่ในกระบวนการออกกฎหมายทั้งหมดว่ามีส่วนร่วมในการกระทำที่อาจขัดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงกลาโหม สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง คณะอนุกรรมาธิการงบประมาณปี 64 (ครุภัณฑ์) คณะกรรมาธิการงบประมาณปี 64 สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้เสนอกฎหมายด้วย
ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมาธิการฯจะตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป เนื่องจากสิ่งที่ ทอ.ชี้แจงมานั้นอ้างถึงนั้น เป็นเพียงการอ้างถึง พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เท่านั้น แต่กระบวนการออกกฎหมายยังมี พรบ.อีกหลายฉบับที่ใช้บังคับหน่วยงานต่างๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม เช่นโครงการ 3 โครงการของ ทอ.นั้น ต้องคำนึงถึง พรบ.ไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2561และ พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติพ.ศ. 2560
ซึ่งการแก้ไข SOPR และ TOR ของ ทอ.ในครั้งนี้ อาจเป็นการกระทำโดยพลการ เป็นการปฏิบัติที่เกินกว่าอำนาจ และอาจขัดกับ พรบ.ฉบับอื่นๆ ที่ใช้บังคับหน่วยงานต่างๆให้ปฏิบัติตามก็เป็นไปได้เช่นกัน ยังไม่รวมถึง สิ่งที่ผู้แทน ทอ.ชี้แจงยังไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนทิศทางทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามที่รัฐบาลเองเป็นผู้กำหนด ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะรีบตรวจสอบและทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุด เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านในการจัดหา จึงต้องทำให้ถูกกฎหมายและเป็นประโยชน์กับกองทัพอากาศและประเทศชาติมากที่สุด