กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค วอนประชาชนจับตามติ ครม. เดินหน้าจัดซื้อ ATK Lepu หรือไม่ หลังเรียกแจงพบข้อพิรุธหลายประการ
นายมานะ โลหะวณิชย์ ประธาน กมธ. และ นางมนพร เจริญศรี ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย เลขานุการคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ. ได้เรียกสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu จำนวน 8.5 ล้านชุดที่สังคมจับตา โดยผู้เข้าร่วมชี้แจง ได้แก่นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท พบว่าการจัดซื้อมีการปรับเปลี่ยนกำหนดหลักเกณฑ์การจัดหาระหว่างการพิจารณา จากครั้งแรก 29 กรกฎาคม 2564 ระบุว่าชุดตรวจต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ต่อมา 1 สิงหาคม 2564 องค์การเภสัชกลับปรับหลักเกณฑ์ลงเหลือเพียง ชุดตรวจต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. โดยตัดข้อความ “และองค์การอนามัยโลก (WHO)” ส่วนความไวในการตรวจลดลง จาก 98% เหลือเพียง 90% ส่วนค่าจำเพาะปรับลงลงจาก 98% เหลือ 97% โดยให้เหตุผลว่าจะมีตัวเลือกในการจัดซื้อมากขึ้น และได้ราคาถูกลง
นางมนพร กล่าวอีกว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า การจัดซื้อชุดตรวจ ATK ต้องผ่านการรับรองจาก WHO หรือไม่ ซึ่งในข้อเท็จจริงนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ที่ต้องบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะต้องดำเนินการทุกอย่างโดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ จึงควรตัดสินใจทำสิ่งในสิ่งที่ถูกต้องคือ ระงับการลงนามจัดซื้อ ATK ยี่ห้อนี้ออกไปก่อน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ฯ ได้เสนอแนะไว้ว่าขอบเขตของงาน หรือทีโออาร์ ของหน่วยงานรัฐในการจัดซื้อจัดจ้าง มักจะมีข้อกำหนดในทีโออาร์สงวนสิทธิ์ไว้ว่า หน่วยงานรัฐทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่รับราคาต่ำสุด หรือราคาหนึ่งราคาใด หรือราคาที่เสนอทั้งหมดได้ และอาจพิจารณายกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างนั้นได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ และให้ถือว่าการตัดสินของหน่วยงานรัฐนั้นเป็นเด็ดขาด ผู้เสนอราคาจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ มิได้ นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3) ได้กำหนดไว้ว่า ก่อนลงนามในสัญญา หน่วยงานของรัฐอาจประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ หากปรากฏว่าการทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นรัฐควรยกเลิกการจัดซื้อออกไปก่อนได้
“ชุดตรวจ ATK เป็นเครื่องมือตรวจหาโรค ไม่ใช่เครื่องมือหากินของใครคนใดคนหนึ่ง การดำเนินการตามเสียงทักท้วงด้วยความเป็นห่วงของกระบวนการทางสังคม หากเปิดใจรับฟังย่อมเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากกว่าที่จะดึงดันทำในสิ่งที่เป็นปัญหา” นางมนพร กล่าว