“อนุดิษฐ์” เชื่อโครงการ GBAD งบฯ 940 ล้านบาทของ “กองทัพอากาศ” ส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ หลังพบกีดกันคู่แข่ง เอื้อประโยชน์บางบริษัท
“อนุดิษฐ์” ปูด “ทัพฟ้า” ตัดจบโปรเจ็คต์ GBAD งบฯ 940 ล้านบาท ทั้งที่พิรุธเพียบ เผยล้มประมูลด้วยวิธีคัดเลือกไปแล้ว 3 หน ล่าสุดลักไก่เปลี่ยนใช้วิธี “เจาะจง” อ้างมีผู้สนใจรายเดียว ทั้งที่อีก 3 บ.เอกชนแจ้งขอเข้าร่วม เชื่อเข้าข่ายผิด “กม.ฮั้วประมูล” แฉ “ฝ่าย เสธ.” สั่งเร่งรัดให้จบใน 10 วัน หวังปิดจ็อบก่อนสิ้นปีงบฯ ช่วงที่ “บิ๊ก” เกษียณอายุราชการ ดักคอโครงการดาวเทียม ทอ. 1.4 พันล้านแก้ TOR ส่งกลิ่น เตือนหากอนุมัติ งานเข้า “นายพลเกษียณ” แน่
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติผิดมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 3 พันล้านบาทว่า หลังจากที่ใช้เป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ตลอดจนได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาส่งคำร้องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวน และดำเนินการต่อไปแล้วนั้น ก็ยังคงมีผู้หวังดีต่อกองทัพอากาศส่งข้อมูลความผิดปกติมาให้ตน และ กมธ.ป.ป.ช.อย่างต่อเนื่อง
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะโครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) มูลค่าโครงการ 940 ล้านบาท ที่มีความพยายามรวบรัดให้จบก่อนสิ้นเดือน ก.ย.64 ซึ่งเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ และเป็นช่วงที่ข้าราชการ รวมไปถึงข้าราชการทหารระดับสูงจะเกษียณอายุราชการ ล่าสุดทราบได้สรุปผลและได้เอกชนผู้ดำเนินการแล้วเมื่อ 23 ก.ย.64 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีการล้มการประกวดราคาไปถึง 3 ครั้ง และครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 4 ได้มีการเปลี่ยนวิธีการประกวดราคาจากเดิมที่ใช้การคัดเลือก มาใช้วิธีการเจาะจง โดยอ้างว่าในการประกวดราคาครั้งที่ 3 ที่ล้มไปนั้นมีผู้เข้ายื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว แต่ในข้อเท็จจริงนั้นมีอีก 2 บริษัทที่ยื่นเสนอราคาไม่ทัน เพราะกรรมการจัดซื้อฯ กำหนดเวลาไว้เพียง 14 วัน ซึ่งสั้นกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีมูลค่านับพันล้านบาท และมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ แต่แม้ยื่นไม่ทัน ทั้ง 2 บริษัทก็ได้ยื่นสงวนสิทธิ์ขอเข้าร่วมการประกวดราคาในครั้งต่อไปไว้ ในขณะที่อีก 1 บริษัท เป็นบริษัทที่กองทัพอากาศสืบราคาช่วงที่ขออนุมัติโครงการ กลับถูกกีดกันจากประธานกรรมการซื้อไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคามาโดยตลอด แม้ทางบริษัทจะทำหนังสือขอเข้าร่วมในครั้งที่ 3 ก็ถูกกรรมการจัดซื้อฯ ปฏิเสธ
“การประกวดราคาครั้งที่ 4 ผบ.ทอ.อนุมัติให้ซื้อโดยวิธีเจาะจง ทั้ง ๆ ที่การจัดซื้อครั้งที่ 3 คณะกรรมการจัดซื้อฯ ยังไม่ได้เปิดซองเพื่อพิจารณาเชิงเทคนิคของบริษัทใดเลย แล้วเหตุใดจึงเจาะจงกับบริษัทที่มาเสนอราคาทันในครั้งที่ 3 เพียงบริษัทเดียว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นรายละเอียดทางเทคนิคของบริษัทดังกล่าว เว้นเสียแต่มีการเตรียมการกันไว้ล่วงหน้าแล้วหรืออาจเข้าข่ายว่าฮั้ว หรือล็อกกันไว้ก่อนแล้ว” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า จากที่ติดตามการดำเนินโครงการ GBAD มาโดยตลอดเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการหลายจุด ซึ่งส่อไปในทางขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ทั้งการกีดกันเอกชนบางรายไม่ให้เข้าร่วมการประกวดราคา ก็เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการประกวดราคาโดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุง TOR ตลอดจนการกำหนดระยะเวลาการยื่นเสนอราคา ที่เมื่อครั้งที่ 3 กำหนดไว้เพียง 14 วัน ทั้งที่ตามปกติโครงการอื่น ๆ ให้เวลา 30 สำหรับบริษัทในประเทศ และให้เวลา 45 วันสำหรับบริษัทต่างชาติ แล้วในครั้งที่ 4 นี้ยังมีข้อสั่งการที่อ้างถึงระดับผู้บังคับบัญชาว่า ให้เร่งกระบวนการซื้อให้เสร็จสิ้นภายใน 10 วัน ซึ่งถือว่าผิดปกติและเป็นเป็นไปไม่ได้สำหรับโครงการใหญ่ขนาดนี้วงเงิน 940 ล้านบาท ถือเป็นการรวบรัดเร่งรีบผิดปกติอย่างมาก
“กระบวนการที่เกิดขึ้นถือว่าทำผิดขั้นตอน เร่งรัด ไม่รอบคอบ ลักไก่แก้วิธีประกวดราคา ไม่เปิดให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กีดกันผู้เข้าประกวดราคารายอื่น ๆ กองทัพอากาศและภาครัฐย่อมเสียประโยชน์อย่างแน่นอน และอาจหนีไม่พ้นข้อหาทุจริตคอร์รัปชันด้วย ล่าสุดได้รับการแจ้งมาว่า โครงการ GBAD ที่ลักไก่ปรับเป็นวิธีเจาะจง ได้คัดเลือกเอกชนที่ได้รับงานแล้วเสร็จเมื่อ 23 ก.ย.64 และต้องสรุปให้ ผบ.ทอ.ลงนามภายใน 28 ก.ย.64 เท่านั้น ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้ปิดจ็อบทันสิ้นเดือน ก.ย. ที่เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ 2564 และเป็นช่วงที่บิ๊กทหารอากาศบางคนจะเกษียณอายุราชการหรือไม่” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
น.อ.อนุดิษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า นอกจาก 3 โครงการที่ตน และ กมธ.ป.ป.ช.ติดตามตรวจสอบอยู่ ยังได้รับข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ของกองทัพอากาศ ที่เข้าข่ายไม่ชอบมาพากลอีก 1 โครงการ คือ โครงการดาวเทียมของกองทัพอากาศวงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งกองทัพอากาศมอบให้ “ฝ่าย เสธ.” เป็นประธานจัดซื้อ และพบว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง TOR และหลักเกณฑ์การพิจารณามากกว่า 2 ครั้ง มีการลดเกณฑ์การให้คะแนน Purchase and Development ทำให้กองทัพอากาศเสียประโยชน์ หากนำเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์เดิมคงเห็นความไม่ชอบมาพากลอีกมาก
“เรื่องนี้หากปลัดกระทรวงกลาโหมอนุมัติจัดซื้อและ ทอ.ประกาศผู้ชนะอย่างเป็นทางการ อาจมีผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วต้องกลับมาชี้แจงหลายคน และเหตุจากเรื่องนี้ในช่วงโยกย้ายครั้งที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้นายพลในกรมที่รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ ต้องถูกส่งออกไปนอกหน่วยในตำแหน่งที่ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของกองทัพอากาศ” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว