ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ
21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญแถลงผลคำวินิจฉัย กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 245 (1) ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เกิดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร 2556 เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
มติของศาล 6 ต่อ 3 มีความเห็นว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 เนื่องด้วยไม่สามารถเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวทั้งราชอาณาจักร 28 เขตเลือกตั้งไม่มีการจัดและเปิดรับสมัครเลือกตั้งมาก่อนเลย โดยสรุปแล้วผลการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปในครั้งนี้จึงถือเป็นโมฆะ
ทั้งนี้วันที่ 2 กุมภาฯ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปสถานการณ์หน่วยเลือกตั้ง 93,952 หน่วย สามารถเปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 89.2 มีเพียงร้อยละ 10.8 ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้
#ณวันนั้น พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ โดยแสดงจุดยืนทางการเมืองของพรรคต่อพี่น้องประชาชน 6 ข้อ (สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ลิงก์นี้ https://ptp.or.th/archives/3529) ซึ่งมีใจความมีดังนี้
1. ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการเลือกตั้ง และไม่มีมาตราใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาได้เช่นกัน การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเสมือนเป็นการบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นใช้เองตามใจชอบ
.
2. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐธรรมนูญ 50 สร้างผลงานที่ส่งผลกระทบต่อนักการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด
ตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย การยุบพรรคพลังประชาชนพร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด การตัดสินคดีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างน่ากังขา รวมไปถึงตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่อาจทำได้ไม่ว่าทั้งฉบับหรือรายมาตราทั้งที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จนถึงคดีนี้ที่วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ต่างกับคดีของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะกรณีคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องเพียงเหตุผลง่ายๆ ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ทำความเห็น ทั้งที่ข้อเท็จจริงตามคำร้องของ กกต.ระบุชัดเจนว่ามีการทำผิดจริง หรือคดีที่มีการร้องให้วินิจฉัยตาม มาตรา 68 กรณีม็อบ กปปส. ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับวินิจฉัย ขอให้ประชาชนได้พิจารณาถึงมาตรฐานการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปด้วยความสุจริตและยุติธรรมหรือไม่
.
3. พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่น ๆ กว่า 50 พรรค ตลอดจนประชาชน 20 ล้านคนเศษได้ใช้สิทธิ เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ จากการกระทำของบุคคลกลายกลุ่ม ทั้ง
1 การขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งของ กปปส. และแนวร่วม
2 การไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเป็นหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิ
3 ความไม่เต็มใจจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาฯ เป็นโมฆะ ส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง การบริหารประเทศหยุดชะงัก ไม่สามารถเดินหน้าไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในเวลาต่อมา
และเป็นต้นทางของรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คสช. และการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลวของคณะรัฐประหารมานานกว่า 7 ปีแล้ว