1 เมษายน 2544 เริ่ม 6 โรงพยาบาลนำร่อง 30 บาท รักษาทุกโรค

ก่อนปี 2540 การเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากให้ทุกครอบครัว หากใครคนหนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล อาจกระทบถึงอนาคตครอบครัวที่เข้าขั้นมืดมน บางบ้านต้องขายไร่ขายนา ขายเครื่องมือทำกิน จมอยู่กับหนี้สินก้อนโตเพื่อนำไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล
.
#ณวันนั้น ภาพเหล่านี้ไม่ได้ต่างไปจากนิยาย แต่เป็นภาพที่ทุกคนสามารถเห็นและสัมผัสได้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ข้อมูลตัวเลขในช่วงเวลานั้นระบุชัดว่า ยังมีประชาชนอีก 18 ล้านคน ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ
.
แล้วจะแก้โจทย์อย่างไร เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างถ้วนหน้า และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน?
.
ไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ได้ออกแบบแก้โจทย์ดังกล่าวด้วยนโยบาย ‘ประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ หรือที่ทุกวันนี้ติดปากกับคำว่า ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ (ต่อมาพัฒนาเป็นคำว่า ‘บัตรทอง’ เมื่อโครงการฯ เริ่มดำเนินการ)

โดยมีนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดและกำลังหลักในการผลักดัน โดยรัฐบาลไทยรักไทยเริ่มทำโครงการฯ ที่ได้หาเสียงไว้ทันทีหลังบริหารประเทศได้เพียง 2 เดือน
.
วันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 1 เมษายน 2544 คือวันที่รัฐบาลไทยรักไทยเริ่มต้นดำเนินนโยบายนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครสวรรค์ ยโสธร พะเยา และยะลา ครอบคลุมประชาชนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพจำนวน 1.39 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.37 ของประชากรใน 6 จังหวัด ก่อนจะขยายเพิ่มอีก 15 จังหวัด ในอีก 2 เดือนต่อมา แล้วขยายสิทธิ์ครอบคลุมทั่วประเทศหลังจากนั้นไม่นานนัก
.
ทุกวันนี้ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ยังได้รับการชื่นชมจากนานาชาติอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ยังได้กล่าวในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ว่า “ความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทยมีพื้นฐานจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ครอบคลุมประชากรเกือบ 100%” อีกด้วย
.
‘30 บาทรักษาทุกโรค’ เป็นสิ่งสะท้อนเจตจำนงของผู้คิดค้นนโยบายและร่วมกันผลักดันจนสำเร็จ เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างมีศักดิ์ศรี เท่าเทียม และเสมอภาค
.
“อย่างน้อยในขั้นพื้นฐาน ประชาชนที่ยากจนควรได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใดก็มีคำพูดว่าคนไทยได้ลงคะแนนหนึ่งเสียงเท่ากัน แต่ทำไมบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานถึงไม่เท่าเทียมกัน” คือคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2544
.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 มีนาคม 2544 หน้า 2
https://bit.ly/3foPhxw