คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ไร้พรมแดน
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน ที่โลกตื่นตัวกับคำว่า ‘โลกาภิวัฒน์’ และการเชื่อมโยงโลกด้วยเทคโนโลยีกำลังทลายเส้นแบ่งพรมแดน นำไปสู่การเคลื่อนไหวของความรู้และเศรษฐกิจครั้งสำคัญ แต่ #ณวันนั้น เครื่องมือสำคัญอย่าง ‘คอมพิวเตอร์’ กลับกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนยากจะเอื้อมถึงด้วยเงื่อนไขเรื่องราคา
.
เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยราคาที่จับต้องได้ และผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีในวงกว้าง โดยเฉพาะในหมู่นักเรียน นักศึกษาที่จะได้มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นวงจรการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงในประเทศ หลังรัฐบาลไทยรักไทย เข้ามาบริหารประเทศ จึงมีการดำเนินโครงการ “คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร” ราคาถูกสำหรับประชาชน
.
โครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร รับผิดชอบดำเนินการโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะขายเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกจำนวน 1 แสนเครื่อง ซึ่งต่อมาในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นควรผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ในราคาถูกและขยายวงกว้างขึ้นกว่าเดิม จึงสั่งการในที่ประชุม ครม. มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีขยายโครงการตั้งเป้าไกลขึ้นกว่าเดิม เป็นจำนวน 1 ล้านเครื่องภายในเวลา 1 ปีครึ่ง
.
โครงการนี้ทำให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์พีซีได้ในราคา 10,900 บาทต่อเครื่อง และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ในที่ราคา 19,000 บาทต่อเครื่อง และประชาชนสามารถผ่อนกับธนาคารได้เดือนละ 500 บาท โดยเฟสแรกได้วางกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มพนักงานข้าราชการและครอบครัวทั่วไป
.
แม้จะเป็นโครงการที่ดี ท้าทายการเปลี่ยนแปลงประเทศ ขณะนั้นประเมินกันว่าหากทำได้จริงนั่นคือการเข้าถึงความรู้เพียงปลายนิ้ว แต่แรงเสียดทานและคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยมีความพยายามที่จะขยายความว่าเป็นการทุบราคาตลาดคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่อย่างเด็ดขาดและดึงตลาดไปที่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว หรือการระบุว่า เป้าหมายที่ต้องขายคอมพิวเตอร์ให้ได้ 1 ล้านเครื่องทั้งที่ขณะนั้นยอดขายในตลาดต่อปีขายได้เพียง 7 – 8 แสนเครื่องเท่านั้น…เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไม่ได้
.
หลายคนยังจำได้ เฟสแรกประสบปัญหามากมายทั้งเรื่องการเข้าประมูลของแบรนด์คอมพิวเตอร์ สเปกคอมพ์ที่น่าผิดหวั งการต่อคิวจองกับไปรษณีย์ไทยซึ่งขณะนั้นถือเป็นงานใหม่และท้าทายของไปรษณีย์ไทยเช่นกัน การขอสินเชื่อ การส่งมอบที่ล่าช้า แม้กระทั่งสื่อมวลชนจำนวนมากในขณะนั้นก็ระบุว่าเป็นนโยบายที่ไม่คุ้มค่า แรงเสียดทั้งหลายกลับกลายเป็นการจุดประกายไฟให้รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เดินหน้าโครงการนี้ต่อด้วยความความมั่นคง
.
ท่ามกลางสารพัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ “โครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร” กลับได้รับการตอบรับที่ดีมากจากประชาชน จนเกิดปรากฎการณ์ต่อคิวซื้อ ซึ่งต่อมาได้พัฒนา ปรับแก้ปัญหาและขยายโครงการครอบคลุมประชากรมากขึ้นตั้งแต่ข้าราชการ ครอบครัว โรงเรียน ธุรกิจเอสเอ็มอี และต่อยอดมาสู่โครงการ ‘เครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่’ และ ‘คอมพิวเตอร์เพื่อน้องเล็ก’ ในปี 2547
.
“ปัจจุบันเรามีโรงเรียนอยู่ทั้งหมดกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งยังมีโรงเรียนที่ขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์เอาไว้ใช้ในการเรียนการสอนอยู่อีกมากกว่า 30,000 แห่ง และคอมพิวเตอร์ที่ได้มาจากโครงการนี้ กระทรวงไอซีทีจะนำไปมอบให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนให้ได้แห่งละ 22 เครื่อง ซึ่งจะทำให้มีโรงเรียนประมาณ 4,500 แห่ง เฉลี่ยกระจายทั่วประเทศ ที่จะมีศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เอาไว้ใช้ในการเรียนการสอนได้ เป็นการช่วยให้น้องเล็กของเรา คือเด็กๆ ที่อยู่ในชนบทไกลๆ ที่ขาดแคลนโอกาสในการเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยี ได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสนวัตกรรมด้วย” น.พ.สุรพงษ์ กล่าวถึงโครงการ ‘เครื่องเก่าแลกใหม่’ และ ‘คอมพิวเตอร์เพื่อน้องเล็ก’ ในปี 2547
.
18 ปีต่อมา วันที่เราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาสู่การรับรู้ข่าวสารได้เพียงปลายนิ้ว ราคาคอมพิวเตอร์ถูกลงจนประชากรมากกว่า 25.3% มีคอมพิวเตอร์ใช้ และกว่า 66.7 % ของประชากรทั้งประเทศเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ อาจทำให้ลืมหรือจินตนาการไม่ออกว่า ครั้งหนึ่ง…การทำให้คอมพิวเตอร์ราคาถูกลงและออกแบบระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ก็คือหนึ่งในการต่อสู้เชิงนโยบาย หนึ่งในหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนเช่นเดียวกัน
——-
ท่านใดที่เคยใช้คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร อยู่ในประวัติศาสตร์ ณ วันนั้น
อยากชวนท่านร่วมส่งรูปหรือเรื่องราวของท่านมาได้ใต้โพสต์นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวด้วยกัน
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ 24 เม.ย. 2546
มติชน 23 เม.ย. 2546
ไทยรัฐ 26 ก.พ. 2547
https://www.sanook.com/hitech/837053/