19 พฤษภาคม 2553 อำมหิต “สังหารหมู่ประชาชน”

การสังหารหมู่ประชาชนอย่างอำมหิต #ณวันนั้น 19 พฤษภาคม 2553 คืออาชญากรรมครั้งใหญ่โดยรัฐ ที่เกิดขึ้นกลางกรุงเทพมหานคร ภาพการใช้กำลังทหาร อาวุธสงคราม กระสุนจริงและรถหุ้มเกราะเคลื่อนพลเข้าสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนด้วยความรุนแรง ยังคงติดตรึงในความทรงจำของหลายคน
.
การล้อมปราบ ล้อมยิง ซุ่มยิงประชาชนโดยสไนเปอร์ ที่ไม่มีใครคิดว่าได้เห็นในชีวิตนี้ก็เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ในเขตอภัยทาน ภายในวัดปทุมวนาราม ก็ยังถูกสุ่มยิงอย่างเลือดเย็น
.
คนเสื้อแดงเคลื่อนพลครั้งใหญ่ ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ ในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ภายใต้จุดมุ่งหมายเรียกร้องประชาธิปไตยและขอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่มีใครคำนวณได้แน่ชัด แต่จากปากคำ ความทรงจำ และการคำนวนตามพื้นที่ คาดว่าการเคลื่อนพลวันนั้นมีผู้คนอยู่ในขบวนร่วมแสนคน
.
การชุมนุมของประชาชนเป็นไปโดยสงบมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะประกาศใช้อำนาจ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชน ก่อเกิดเหตุการณ์ ‘เมษาเลือด’ 10 เมษายน 2553 ที่ทำให้เห็นได้ว่าการเจรจาบนโต๊ะไม่อาจคลี่คลายสถานการณ์ได้อีกต่อไป
.
เหตุการณ์ล่วงเลยไปกระทั่ง บ่ายวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งโต๊ะยื่นคำขาดให้ประชาชนยุติการชุมนุม ด้วยการประกาศเริ่มนับหนึ่งปฏิบัติการ ‘กระชับพื้นที่’ บริเวณแยกราชประสงค์เต็มรูปแบบ ประกาศเขตใช้กระสุนจริง พลแม่นปืน (สไนเปอร์) และเตรียมการใช้รถสายพานลำเลียงแบบเอพีซี 85 อีกถึง 52 คัน
.
วันเดียวกันนั้นเอง เสธ.แดง – พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ถูกลอบยิงที่ศีรษะ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นับเป็นสัญญาณเปิดฉากสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงทันที
.
หลังจากนั้น (ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม) เหตุปะทะกันระหว่างทหารกับประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
ภาพเหตุการณ์ปรากฎผ่านสื่อทั้งไทยและต่างประเทศเต็มไปด้วยความชุลมุน สถานการณ์ที่คุกรุ่นตึงเครียดปกคลุมไปทั่วประเทศไทย ภาพของพลซุ่มยิง สไนเปอร์เข้ายึดจุดสูง ข่ม ตั้งท่าเล็งปืนใส่ประชาชนแบบเตรียมพร้อมลั่นไก ปรากฎทั่วไปปะปนกับภาพคนเสื้อแดงที่พยายามยืนหยัดต่อสู้ด้วยการเอายางรถยนต์และไม้ไผ่กองเรียงเป็นกำแพงขวางกั้นกำลังเจ้าหน้าที่ไม่ให้บุกเข้าสู่ที่ชุมนุมได้โดยง่าย บั้งไฟ – หนังสติ๊กลูกแก้ว กลายเป็นเครื่องมือเดียวที่พวกเขาตั้งความหวังว่าจะใช้ในการต้านทานอาวุธสงครามในมือทหาร
.
ภาพและเนื้อหาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน ควบคู่ไปกับรายงานข่าวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นรายวัน
.
“ผมคิดว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นทหารสไนเปอร์ของกองทัพขณะปฏิบัติภารกิจซุ่มยิง ผมขอย้ำว่าเราไม่รู้ว่าทหารเหล่านี้มองเห็นอะไรข้างล่าง แต่เห็นได้ชัดว่ามีนายทหารที่ใช้กล้องส่องยิงจากปืนไรเฟิลคอยเฝ้าดูสถานการณ์ และนอกจากนี้ก็มีรายงานด้วยว่ามีประชาชนถูกยิงบริเวณพระราม 4 ผมได้รับโทรศัพท์แจ้งมาหลายสายว่ามีคนถูกยิงโดยสไนเปอร์ ซึ่งเราไม่รู้ว่าคนที่ถูกยิงทั้งหลายที่ได้รับรายงานนั้นเป็นผลจากการซุ่มยิงของทหารเหล่านี้หรือไม่ แต่เราได้เห็นชัดเจนว่าทหารสไนเปอร์ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการ และเห็นชัดๆ ว่าพวกเขากำลังเล็งยิง” คำสัมภาษณ์ของ แดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าว CNN ประจำประเทศไทย วันที่ 15 พ.ค. 2553
.
18 พฤษภาคม 2553 ศอฉ. ประกาศเส้นตายให้ผู้ชุมนุมต้องออกจากพื้นที่แยกราชประสงค์ภายในเวลา 15.00 น. จากนั้น เช้ามืดวันที่ 19 พฤษภาคม ทหารก็บุกสลายการชุมนุม พร้อมรถหุ้มเกราะที่เคลื่อนสู่แยกศาลาแดง ท่ามกลางการประเมินแล้วว่า หากสลายการชุมนุมด้วยปฏิบัติการทหารที่เตรียมไว้ จะมีผู้เสียชีวิต 200 – 500 คน
.
ตลอดครึ่งวันเช้าของวันที่ 19 พฤษภาคม เต็มไปด้วยความสับสน มีรายงานข่าวการกราดยิงประชาชนและการ์ด นปช. ถี่ยิบ ชีวิตคนเสื้อแดงปลิดปลิวราวใบไม้ร่วง ขณะที่บางส่วนถูกจับ ประชาชนกว่า 4 พันคนหนีตายเข้าไปในวัดปทุมวนาราม ซึ่งถูกประกาศไว้ก่อนหน้าว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย “เขตอภัยทาน”
.
เย็นวันนั้น ควันไฟจากการเผาไหม้สถานที่ต่างๆ ก็พวยพุ่งเต็มท้องฟ้ากรุงเทพมหานคร พร้อมๆ กับเสียงระเบิดและเสียงปืนที่มีต้นทางจากรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารม ที่ดังต่อเนื่อง ซึ่งในเวลาต่อมาเสียงปืนนั้นได้คร่าชีวิตประชาชนที่หนีเข้าไปหลบภัยภายในวัด 6 ราย
.
ช่วงเวลาเดียวกันนั้น สื่อมวลชนหลายสำนักและเครื่องมือสื่อสารภาครัฐ นำเสนอข้อมูลต่อสังคมแทบจะทันที “คนเสื้อแดง” และ “ชายชุดดำ” “บุกเผาทั่วกรุงฯ 21 จุด สถานที่ราชการ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และสำนักงานสื่อมวลชน”
.

ในพื้นที่ต่างจังหวัดความโกรธแค้นของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย จากเหตุการณ์กระชับวงล้อมสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ได้ทำให้เกิดการลุกฮือในหลายจังหวัด ทั้ง ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร ที่แนวร่วมคนเสื้อแดงจำนวนมากแสดงพลังชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งบางแห่งถูกเผาและมีการดำเนินคดีในเวลาต่อมา
.
19.25 น. ศอฉ. ออกประกาศห้ามบุคคลใดๆ ออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) 23 จังหวัด เพิ่มเติมจากพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ อาทิ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี มหาสารคาม มุกดาหาร ศรีสะเกษ
.
“(…) And Unfortunately Some People Died” / “ (…) และโชคไม่ดีที่มีคนตาย ”
.
คือคำกล่าวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ถึงกรณีสลายการชุมนุมปี 53 หลังจากผ่านเหตุการณ์มาแล้วนานกว่าปี อย่างไรก็ตาม แม้ อภิสิทธิ์ จะปฏิเสธว่าผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมได้เสียชีวิตเพราะการยิงของทหาร แต่ก็ยอมรับว่ามีการใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม
.
และนี่คือตัวเลขการเบิกกระสุนจริงในช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดง โดย ศปช. ช่วยตอบคำถามอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
.
– 117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม
– 3,000 คือ กระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป (2,120 คือกระสุนที่ใช้ และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)
– 700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย
– 3,000,000,000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย
– 1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด
– 1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี
– 94 คือ จำนวนคนเสียชีวิตโดย 10 คน คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)
– 2 คน คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)
– 6 คน คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต 32 คน คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ และ12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด
.
ควันไฟที่พวยพุ่งทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในช่วงเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แม้นี่คือภาพที่ทำให้คนเสื้อแดงถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง พยายามตอกย้ำจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี แกนนำรัฐบาล รัฐมนตรี ไปจนถึงนักการเมืองและผู้นำกองทัพในขณะนั้น ไปจนถึง ศอฉ. หรือแม้แต่จากคนเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม และจากสื่อมวลชนฝากฝ่ายหนึ่ง แต่ในอีกด้าน นี่คือภาพอำลาการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ยืนหยัดต่อสู้ ผ่านความเดือดดาลที่จะไม่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรมและการกดปราบด้วยความรุนแรง ที่ต้องพบเจอตลอดมาตั้งแต่ เมษายน 2552 , เมษายน 2553 และ สุดท้าย ในวันนี้ 13 – 19 พฤษภาคม 2553
.
หลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มวลชนคนเสื้อแดงหลายคนถูกจับ ถูกติดตาม ถูกนำไปคุมขังในที่ต่างๆ เพื่อสร้างความหวาดหลัวและหวังเปลี่ยนสีเลือดจาก ‘แดง’ ให้เป็นอื่น ถูกก่นประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้ายไม่รักแผ่นดิน พี่น้องหลายคนหยุดการเคลื่อนไหว เจ็บปวด ขณะที่อีกหลายคนยังยืนหยัดสู้ตามแนวทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย แม้จะต้องถูกหมิ่นหยามลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเกียรติประวัติ
.
สิบปีต่อมา เรื่องราวการต่อสู้ของคนเสื้อแดงถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง พร้อมๆ กับการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ พวกเขาได้รับการขอโทษในที่สาธารณะจากคนรุ่นใหม่และแกนนำนักศึกษาที่รักในประชาธิปไตย คืนศักดิ์ศรี #คืนความจริง ให้พี่น้องเสื้อแดงได้สำเร็จ
.
หลัง 19 พฤษภาคม 2553 ที่หลายคนพยายามลบลืมการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ปฏิเสธความมีอยู่จริงของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ในวันนี้…ตัวตนและเรื่องราวของพวกเขา คนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย ยิ่งถูกจดจำ
.
แด่วีรชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
.
ที่มา:
วิกฤต 19 ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549 – 19 พฤษภาคม 2553
นสพ. รายวัน เดลินิวส์ 14 พ.ค. 53
นพส. รายวัน สยามรัฐ วันที่ 20 พ.ค. 53
นพส. รายวัน โพสต์ทูเดย์ 20 พ.ค. 53
เดลินิวส์ 20 พ.ค. 53
https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304
คลิปอภิสิทธิ์ ตอบคำถามบีบีซี : https://bit.ly/3okfmQw

———

เพื่อไทยขอเชิญชวนทุกท่าน #คืนความจริง ให้คนเสื้อแดงพี่น้องของเรา
.
เมื่อความจริงของเรา (ถูกทำให้) ไม่เหมือนกัน จึงต้อง #คืนความจริง ให้กับพี่น้องคนเสื้อแดง ด้วยการส่งข้อมูล ข้อเขียน เรื่องราว ความทรงจำ ภาพถ่าย ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง โดยไม่จำกัดรูปแบบ ตั้งแต่ 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2564 โดยสามารถส่งได้ผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้
.
1 Line Official: @redshirt.truth (พิมพ์ @ ด้วยนะคะ) หรือ https://lin.ee/iby1FcZ
2 Email : [email protected]
.
ข้อมูลที่ส่งมาทั้งหมด พรรคเพื่อไทยจะรวบรวม จัดระเบียบเพื่อให้ง่ายต่อการค้นคว้าศึกษาและนำเสนอในลำดับต่อไป (โปรดติดตามในเร็ว ๆ นี้)