กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ก้าวสำคัญสร้างความเสมอภาคทางเพศ
บริบทของสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงตกอยู่ใต้มายาคติของคำว่า ‘ช้างเท้าหลัง’ ขณะที่ ‘ช้างเท้าหน้า’ คือบทบาทของผู้ชายมาโดยตลอด ต่อเมื่อบทบาททางเพศในมิติครอบครัวเคลื่อนสู่บทบาททางเพศในมิติเศรษฐกิจและสังคม พร้อมการต่อสู้ทางกฎหมายที่ทำให้ผู้หญิงออกจากบ้านและกลายเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีศักยภาพไม่แพ้ผู้ชาย และท่ามกลางโลกที่หมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความเป็นเพศเกิดการลื่นไหล ไม่คงที่ และไม่ตายตัว ถึงอย่างนั้น บทบาทของเพศหญิงและเพศชายกลับยังคงมีกำแพงของความเหลื่อมล้ำตั้งตระหง่านในสังคมไทย
.
หลังจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งในปี 2554 อย่างท่วมท้น #ณวันนั้น ก้าวต่อมาของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยก็คือ การเดินหน้าทำงานตามนโยบายที่ได้ให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องประชาชน หนึ่งในนั้น คือ การสนับสนุนบทบาทสตรีไทยให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม
.
“ทุกวันนี้ ในเกือบทุกภูมิภาคของโลก ผู้หญิงยังคงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ ผู้หญิงโดยเฉลี่ยยังคงได้รับการศึกษาต่ำกว่าผู้ชาย เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากกว่า มีรายได้น้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงยังตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศและการทารุณกรรม”
.
คือคำกล่าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ การประชุมประจำปี World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ 42 เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 – 31 มกราคม 2555
.
จากความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเรื่องบทบาทสตรีในยุคนั้น เนื้อหาส่วนหนึ่งของนโยบายคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนบทบาทสตรีไทยให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาค ทั้งการปกป้องสิทธิสตรี ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองสตรีจากความรุนแรงในครอบครัว การดึงศักยภาพสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา และการสาธารณสุข แก่สตรีทั้งในชนบทและเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตและมีหลักประกันในการดำรงชีวิต
.
เช่น การจัดตั้งสถานดูแลเด็กในที่ทำงานภาครัฐและเอกชนจนถึงระดับชุมชน หรือการเพิ่มและพัฒนาศูนย์พึ่งได้เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ภายใต้หน่วยงาน “OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” ที่ประสบ 4 ปัญหา ได้แก่ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ
.
วันนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว หรือ 31 กรกฎาคม 2555 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งดำเนินงานตามนโยบายวาระเร่งด่วนประจำปี 2555 และเปิดตัวกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในวันดังกล่าว พร้อมโอนเงินจัดสรรให้กับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั่วประเทศก้อนแรก จังหวัดละ 20 ล้านบาท ก่อนจะโยกย้ายมาเป็น #กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ภายใต้กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งต่อมาได้ดำเนินการจนครบทุกจังหวัด จังหวัดละ 100 ล้านบาท กระจายทั้งหมด 77 จังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยสำหรับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สู่การสร้างสวัสดิภาพและคุณภาพที่ดีของชุมชนและสังคมต่อไป
.
ตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือการรวมตัวกันของของแม่บ้านเกษตรกร ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พื้นที่ที่ได้รับปัญหาจากความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกลุ่มกันผลิตขนมพื้นบ้านของทางภาคใต้ จนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ โดยที่ไม่ต้องไปย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
.
“(กองทุนพัฒนาสตรี) จึงเป็นสิ่งที่ดิฉันรู้สึกภูมิใจที่อย่างน้อยภาครัฐในขณะนั้นได้มีส่วนให้ผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการช่วยให้ผู้หญิงได้มองเห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคม สามารถยืนบนขาของตัวเองได้ เพราะพลังสตรีนั้นมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ ถือเป็นพลังสำคัญที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง”
.
คือส่วนหนึ่งจากข้อความบนเฟซบุ๊กของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559
แหล่งอ้างอิง:
https://bit.ly/3vM0EEd
https://bit.ly/3gEWvO1
https://bit.ly/3iXgbOT
https://bit.ly/3h4UXft
https://bit.ly/3jkDxOv