23ส.ค.54 10 ปี ยิ่งลักษณ์แถลงนโยบาย หาเสียงไว้ ทำได้จริง

หลังชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างถล่มทลาย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี #ณวันนั้น 23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลชุดใหม่แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญ 2550
.
“เนื่องจากวันนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดในการบริหารบ้านเมืองจึงไม่สามารถใช้กรอบแนวคิดแบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีตได้ ดังนั้นกรอบแนวคิดใหม่ๆ จึงมีความจําเป็นที่จะต้องนํามาใช้เพิ่มเติมร่วมกับต้นทุนดั้งเดิมของประเทศที่เรามี เพื่อรวบรวมพลังจากทุกภาคส่วน มาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศของเราให้ดียิ่งขึ้น”
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา
.
การแถลงนโยบายถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก 2.นโยบายตลอดระยะการบริหารราชการ 4 ปีของรัฐบาล โดยเนื้อหาทั้งหมดเป็นการนำนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยมาแถลงเป็นนโยบาย
.
สำหรับนโยบายระยะเร่งด่วนมีทั้งสิ้น 16 นโยบาย ดังนี้

1. สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย
เสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
สนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ และความเสียหายทางทรัพย์สิน

2. กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ

3. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐอย่างจริงจัง

4. ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ําอย่างบูรณาการและ เร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน
โดยเร่งให้มีการบริหารจัดการน้ําในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้

5. เร่งนำสันติสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

6. เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ
เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ร่วมกัน โดยเฉพาะการเร่งแก้ไขปัญหากระทบกระทั่งตามแนวพรมแดน ผ่านกระบวนการทางการทูตบนพื้นฐานของสนธิสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

7.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

8.ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค

โดยแบ่งออกเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจดังนี้
– พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปีปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน 5 แสนบาท
– เพิ่มรายได้รายวันสำหรับแรงงานเป็นวันละ 300 บาท และรายเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท
– มาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสําหรับ สิ่งจําเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก

9.ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
ให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงร้อยละ 20 ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษีและรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคาอาเซียนในปี 2558

10.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน
โดยแบ่งเป็นกองทุนดังนี้
– เพิ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1 ล้านบาท
– จัดตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพสตรีเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท
– จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้วงเงินประมาณ 1 พันล้านต่อสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย

11. ยกระดับสินค้าการเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
โดยให้มีการประกันภัยพืชผลและนำระบบรับจำนำสินค้าการเกษตรมาใช้ การรับจํานําข้าวเปลือกเจ้าและขาว เปลือกหอมมะลิความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคา เกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลําดับ

12. เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวโดยได้ปี 2554 – 2555 เป็นปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ (มิราเคิลไทยแลนด์ เยียร์)

13. สนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์และผลิตสินค้าในท้องถิ่น
บริหารจัดการโครงการหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพ ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชน วิสาหกิจชุมชนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ การเข้าถึงแหล่งทุนและการตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ

14. พัฒนาระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค

15. จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แทปเล็ตให้โรงเรียน

โครงการ One Tablet Per Child (OTPC) โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่อง สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ควบคู่กับการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในแทปเล็ต รวมถึงพัฒนาอินเตอร์เน็ตไร้สายในระดับการให้บริหารและในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงสถานศึกษาที่กำหนดฟรี

16. เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขว้าง
โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อวางกลไกการใช้อํานาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม
.
ส่วนนโยบายตลอดระยะการบริหารราชการ 4 ปีของรัฐบาลนั้นจะเน้นไปที่นโยบายโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการคมนาคม เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อขนส่งมวลชน ขนส่งสินค้า สายกรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-นครราชสีมา กรุงเทพ-หัวหิน และเส้นทางอื่นๆ เพื่อเตรียมการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
.
การเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนพัฒนาขยายทางรถไฟสายแอร์พอร์ตเรลลิงค์ เชื่อมต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังชลบุรีและพัทยา รวมถึงเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า10สายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ครบภายใน 4 ปี และเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสายทั้งระบบรวมทั้งเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมบัตรเดียว
.
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นทุกนโยบายหาเสียงที่ได้ทำการแถลง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำเนินการทุกในนโยบายอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหลายนโยบายได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน อย่างเช่น ค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรีของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเป็นผลงานการดำเนินนโยบายจากรัฐบาลสมัยนั้น คงอยู่ที่ 15,000 บาท แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 10 ปี แล้วก็ตาม หรือนโยบายการเร่งนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เน้นการเจรจาประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจน รวมไปถึงนโยบายการคลังที่วางเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในระยะยาวมีความสมดุลทางการคลังนั้นส่งผลถึงปัจจุบันเช่นกัน
.
แต่ก่อนที่ทุกนโยบายจะได้ดำเนินการเสร็จสิ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ตัดตอนทุกนโยบายหยุดการพัฒนาทุกโครงการ หากมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐประหารจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยถูกทำให้หยุดพัฒนา ไม่มีการพัฒนาประเทศ ไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และไม่มีความหวังถึงอนาคต เหมือน 7 ปีที่ผ่านมาคือความว่างเปล่า
.
เมื่อครบรอบ 10 ปี การแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลที่รักษาคำมั่นสัญญาและสามารถดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ มีอยู่จริง ถ้าหากไม่ถูกรัฐประหารเสียก่อนและสามารถดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ พี่น้องประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้อย่างมหาศาล การรัฐประหารจึงเป็นค่าเสียโอกาสครั้งใหญ่ของประเทศ จนไม่อาจประเมินความเสียหายได้

ที่มา
– คําแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา ในวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5057
– รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 http://web.krisdika.go.th/…/data/con001constitution50.pdf
https://www.sanook.com/news/1046189/
https://www.posttoday.com/politic/news/106633
https://www.thairath.co.th/content/284419