สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มยุคสฤษดิ์ สำเร็จยุคทักษิณ

“หลักการของผม ผมชอบทำในสิ่งที่ near impossible แต่ทำให้มัน possible ถ้าไม่เช่นนั้นมันจะเสียเวลาประเทศมาก และเสียโอกาสประเทศ เพราะการจะแย่งกันเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย”
.
คือ ถ้อยคำส่วนหนึ่งของ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) แถลงข่าวเที่ยวบินพิเศษทดสอบระบบสนามบินสุวรรภูมิ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548
.
จากวันนั้น 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” เปิดให้บริการการบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรก จนถึงวันนี้ ครบรอบ 16 ปีของสนามบินที่เป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ มีเรื่องราวมากมาย ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านมาแล้วหลายรัฐบาล หลายนายกรัฐมนตรี
.
ย้อนกลับไป “สนามบินสุวรรณภูมิ” มีแนวคิดจะก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ภายใต้รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเดินตามแผนงานของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือที่เรียกว่า “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ประกอบกับความสัมพันธ์อันดีกับชาติตะวันตก จึงได้มีการปรึกษาหารือกับบริษัทต่างชาติอย่าง บริษัทลิตช์ฟีลด์ และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แนะนำว่า ถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพมหานคร ควรมีสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2
.
นับจากนั้น รัฐบาลใช้เวลาเวนคืนและจัดซื้อที่ดิน จากตำบลหนองปรือ ตำบลบางโฉลง และตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มากถึง 14 ปี หมู่บ้านหายไป 7 หมู่บ้านครึ่ง พร้อมจ่ายเงินให้ครอบครัวละ 800,000 บาท รวมถึงสร้างพื้นที่แห่งใหม่ให้แก่ชาวบ้านเหล่านั้น
.
อย่างไรก็ดี รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ให้สัมปทานแก่ บริษัทนอร์ททรอปแห่งสหรัฐอเมริกา แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 สัมปทานของบริษัทดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป จนกาลเวลาล่วงเลยมาถึงยุครัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ได้มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดำเนินการสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้แทน ในพ.ศ. 2534
.
ต่อมาใน พ.ศ. 2535 รัฐบาล ชวน หลีกภัย มีความพยายามดำเนินการตามแผนจากรัฐบาลเดิม พร้อมอนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านบาท สำหรับการอพยพโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เวนคืน ถึงอย่างนั้น ประเทศไทยก็ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ส่งผลให้การก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ของกรุงเทพฯ ชะงักงันอีกครั้ง
.
ก่อนจะกลับเข้าสู่แผนเดิม ในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ชนะการเลือกตั้งและเข้ามาเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งมีนโยบายหลักคือ แก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ควบคู่กับการฟื้นฟูและผลักดันให้ประเทศไทยมีความทัดเทียมในการแข่งขันบนตลาดเกิดใหม่ (emerging market) เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
.
“ผมก็นั่งคิด เนื่องจากเรายังไม่พ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ ก.ค. 40 แต่ถ้าเรากลัว ไม่ได้กู้เงิน เราก็ต้องสร้างสนามบินที่แพงเกินจริงและรองรับผู้โดยสารได้น้อยเกินไป เพราะจะสร้างใหม่ทั้งที อุตส่าห์รอกันมาตั้ง 40 ปี ขณะนั้นผมอ่านออกว่าทูตญี่ปุ่นกลัวว่าประกวดราคาใหม่บริษัทญี่ปุ่นจะไม่ชนะประมูล เรื่องการไม่ให้กู้เงินคงจะไม่จริง
.
“ผมก็เลยบอกไปว่าผมจำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและแก้แบบใหม่ให้รองรับผู้โดยสารจาก 35 ล้านคนเป็น 45 ล้านคน ถ้าญี่ปุ่นไม่ให้กู้ก็ไม่เป็นไร ผมใช้เงินแบงค์กรุงไทยกับแบงค์ออมสินก็ได้ ผมก็เลิกการประมูล แก้แบบเป็น 45 ล้านคน และให้มีการประมูลใหม่
.
“ผลปรากฏว่าราคาลดลงจาก 54,000 ล้านบาท เป็น 36,666 ล้านบาท ประหยัดไป 17,000 ล้านบาทเศษ พร้อมกับรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 10 ล้านคน จาก 35 เป็น 45 ล้านคน ซึ่งขนาดเพิ่มแล้ววันนี้ หลังจากเปิดไม่กี่ปีก็เต็มแล้ว ทั้งๆ ที่ไปใช้ (สนามบิน) ดอนเมืองด้วย” คือข้อความส่วนหนึ่งจาก ‘Me and My Country: เบื้องหลังการเจรจากับญี่ปุ่นในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ’ โดย ทักษิณ ชินวัตร วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556
.
รัฐบาลทักษิณ มีความพยายามจะใช้หนี้ IMF ให้หมด โดยไม่ทิ้งโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มกลับมามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น กล่าวคือ นักลงทุนสนใจมาลงทุน นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ผ่านการผลักดันนโยบายท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ หรือ ‘กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น’ เป็นต้น
.
ถึงอย่างนั้น ตลอดระยะเวลาการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากแวดวงนักวิชาการ สื่อ หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่สร้างเรื่องกล่าวหาเพื่อโจมตีต่างๆ นานา ตั้งแต่ปัญหาในการก่อสร้าง การทุจริต หรือแม้แต่การสร้างเรื่องลี้ลับอย่าง ข่าวลือเสาผีสิง หรือการก่อสร้างสนามบินทับสุสานและสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นต้น
.
28 กันยายน พ.ศ. 2549 #ณวันนั้น สนามบินสุวรรณภูมิเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ “ทักษิณ ชินวัตร” หนึ่งในผู้ผลักดันให้สร้างสนามบินจนสำเร็จ กลับไม่มีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวันเปิดตัว เนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
.
อย่างไรก็ตาม แม้สนามบินสุวรรณภูมิจะมีประวัติศาสตร์ซ่อนไว้ข้างหลังมากมายเพียงใด แต่ 16 ปีที่ผ่านมา ประชาชนทั้งชาวไทยและนานาชาติแวะเวียนใช้บริการไม่ขาดสาย สร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างมหาศาล
.
สนามบินสุวรรณภูมิยังกลายเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ล่าสุด สถิติปี พ.ศ. 2562 ก่อนวิกฤตการณ์โควิด สนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก 65,421,844 ราย และมีจำนวนสินค้าทางอากาศยานมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก

อ้างอิง
https://bit.ly/3zGrrnu
https://bit.ly/2XSOWw4
https://bit.ly/3kJeIw8
https://bit.ly/3APPwcY
https://bit.ly/2ZxZfqt
https://bit.ly/39EnNQw