“ดร.เผ่าภูมิ” เมิน 10 มาตรการลดค่าครองชีพรัฐบาล ชูแผนบันได 3 ขั้น แก้เงินเฟ้อ-รายได้ฝืด
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึง 10 มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลว่า
10 มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล เป็นเพียงภาพเล็ก จากภาพใหญ่ทั้งหมดที่ต้องมองในการแก้ปัญหาของแพง-รายได้ทรุด ปัญหาเงินเฟ้อ-รายได้ฝืด
ภาวะของแพงของไทยนั้น คือ Cost-push inflation คือ ต้นทุนราคาน้ำมันและปัจจัยการผลิตปรับตัวขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้นทุนสูงขึ้น ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค ส่งผลทำให้สินค้าแพงขึ้น ที่สำคัญคือไทยเจอปัญหานี้ในขณะที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด ทำให้เกิดภาวะของแพง ในขณะที่รายได้ยังทรุด
การรับมือเงินเฟ้อ-รายได้ฝืด ขอเสนอแผนบันได 3 ขั้น
“ขั้นที่ 1 ตรึงราคาสินค้าผ่านการสนับสนุนค่าจ้างไปที่นายจ้าง” ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน อยู่นอกเหนือการควบคุม และการอุ้มราคาน้ำมันระยะยาวนั้น ก็เกินกำลัง แต่โจทย์สำคัญ คือ ต้องตัดจุดเชื่อมโยง ระหว่าง “ราคาน้ำมัน” กับ “สินค้าแพง” ทำอย่างไรต้นทุนราคาน้ำมัน ไม่ถูกส่งผ่านไปที่ผู้บริโภค ส่งผลให้ของแพงขึ้น คำตอบคือการลดต้นทุนการผลิตส่วนอื่นให้ผู้ผลิตเพื่อชดเชยต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
มาตรการที่ใช้แก้ Cost-push inflation ที่มีประสิทธิภาพสูง คือ การสนับสนุนค่าจ้างแรงงานบางส่วนไปที่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือ Wage Subsidy โดยรัฐสนับสนุนค่าจ้างแรงงานบางส่วนตรงไปที่ผู้ประกอบการเป็นเวลา 6 เดือน โดยผูกกับเงื่อนไขการตรึงราคาสินค้า ไม่ขึ้นราคาสินค้า จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการด้านค่าจ้างชดเชยกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ไม่ต้องผลักภาระไปที่ผู้บริโภค การป้องกันราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นตั้งแต่แรกนั้นสำคัญมาก เพราะเมื่อสินค้าราคาขึ้นแล้วยากมากที่จะปรับลง ส่งผลเรื่องเงินเฟ้อลากยาวนานขึ้น
“ขั้นที่ 2 สนับสนุนลดค่าใช้จ่ายไปที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง” ซึ่งตรงนี้แม้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อเป็นการลดภาระของประชาชนในยามที่ของแพงแต่รายได้ทรุด แต่ต้องไม่ใช่การหว่านแห แต่ต้องดูแลให้ครบทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ จาก 10 มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลนั้น พุ่งตรงไปที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบบางส่วนเท่านั้น แต่ยังไม่ครอบคลุม เรายังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาปุ๋ย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้น ภาคขนส่งสาธารณะและภาคโลจิสติกส์กลุ่มรถบรรทุก ก็ยังถูกละเลย และการขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหล่านี้ยังไม่เห็น
“ขั้นที่ 3 เร่งสร้างรายได้ให้กับประชาชน กระตุ้นการจ้างงาน” การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การทำให้คนมีรายได้ มีงานทำ เพียงพอที่จะสู้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัจจุบันมาตรการ Soft Loan ได้ถูกแปลงเป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหามาก ยอดไม่เดิน ยังเหลือวงเงินอยู่ และยังไม่เห็นแนวทางจาก ธปท. ว่าจะทำอย่างไรกับวงเงินตรงนี้ ควรแปลงวงเงินตรงนี้ไปเป็น “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อการกระตุ้นการจ้างงานและฟื้นฟูกิจการ” โดยผูกเงื่อนไขการจ้างงานเพิ่ม เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน โดยใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
การแก้ปัญหาของแพง-รายได้ทรุด ปัญหาเงินเฟ้อ-รายได้ฝืด ต้องมองสาเหตุให้ชัด และต้องมองให้ครบ ไม่ใช่แค่ 10 มาตรการของรัฐบาล ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมไม่ให้ราคาน้ำมันส่งผ่านไปที่ราคาสินค้า ระหว่างทางต้องลดค่าใช้จ่ายไปที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่หว่านแหแต่ต้องครอบคลุม และปลายทางที่สำคัญที่สุดการสร้างงานให้รายได้เพียงพอสู้ค่าครองชีพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด