‘อรุณี’ อัด ‘ประยุทธ์’ แก้ยาเสพติดล้มเหลว เหตุแก้เศรษฐกิจพลาด – ช่องโหว่กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ทำสังคมเสื่อม ปัญหาครอบครัวรุนแรง เกิดวงจรอุบาทว์ จับ ปรับ คุมประพฤติ ไม่จบสิ้น
ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การระบาดของยาเสพติดขณะนี้กำลังแพร่หลาย ปัญหายาเสพติดได้ลุกลามกัดกินประเทศไปทั่วทุกพื้นที่ จากปัญหาสังคมกลายเป็นปัญหาครอบครัวขั้นรุนแรง มีเหตุพ่อฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อ พ่อ-แม่หนีตายเพราะลูกติดยาจะทำร้ายร่างกาย เพราะการเข้าถึงยาเสพติดทำได้ง่าย ผู้เสพเพิ่มจำนวนมากขึ้นพร้อมกับจำนวนผู้เสพที่กลายเป็นผู้ขายได้ง่ายมากขึ้นตามไปด้วย ยืนยันได้จากตัวเลขชี้วัดที่สะท้อนได้จากจำนวนผู้ถูกจับกุมในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงเท่าตัว อยู่ที่เกือบ 400,000 ราย ซึ่งการแพร่ระบาดของยาเสพติด อาจมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ
- การบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดมาโดยตลอดนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อต้องมาเจอกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีความสามารถอยู่แล้วยิ่งล้มเหลว ทำให้เศรษฐกิจอยู่ภาวะชะงักงัน ปัญหาปากท้องส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ประชาชนตกงานกลายสภาพเป็นคนจนโดยเฉียบพลัน บางส่วนจึงหันมาพึ่งพายาเสพติด หลายคนกลายเป็นผู้ขายเพื่อหารายได้ หลายคนเป็นกลายผู้เสพเพื่อคลายทุกข์ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ปล่อยปละละเลยปัญหายาเสพติด จนมีวาทะ ‘กี่ร้อยนายกฯก็แก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้’ ที่เกิดขึ้นมาก่อนการระบาดของโควิด-19 และล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงพูดในวาทกรรมเดิม แสดงถึงความไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหา
- พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่2) พ.ศ.2564 ที่มีการปรับโทษให้ผู้ต้องหายาเสพติดที่เป็น ‘ผู้ค้าตัวจริง’ ได้รับโทษเบาลง จากเดิมตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หากผู้ใดครอบครองยาเกินปริมาณที่กำหนดให้สันนิษฐานว่า ‘ครอบครองเพื่อจำหน่าย’ และจะได้รับโทษรุนแรง แต่ปัจจุบันได้มีการปรับการชี้วัดผู้ค้าออกจากผู้เสพด้วยปริมาณการครอบครองยาเสพติด เปลี่ยนมาเป็นการพิจารณาจากพฤติการณ์การครอบครองยาแทน กลายเป็นช่องโหว่ทำให้ ‘ผู้ค้ารายย่อยกลายเป็นคนเสพ’ ได้ง่าย เพราะได้รับโทษเบาลง ผู้ขายยอมทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก คนขายตัวจริงยอมถูกจับติดคุกหรือเข้าศูนย์บำบัด เกิด ‘วงจรอุบาทว์’ ในการแก้ปัญหายาเสพติด ที่ทำให้การแยก ‘ผู้ค้าตัวจริง’ ออกจาก ‘ผู้เสพ’ ทำได้ยากมากขึ้น จึงไม่แปลกหากการจับกุมยาบ้าจะทยอยลดลงเรื่อยๆ ในภาพรวม จากที่จับกุมได้ 543 ล้านเม็ดในปี 2561 ลดลงเหลือ 334 ล้านเม็ดในปี 2564 สวนทางกับความเป็นจริงที่ยาบ้าได้ระบาดไปทั่วทุกระแหงและราคาถูกลงเหลือเพียงเม็ดละ 10-20 บาทเพราะมีตัวแทนขายตรงในทุกชุมชน
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดสถานการณ์ ‘คนล้นคุก’ ที่เกิดขึ้นในปี 2561-2564 สัดส่วนผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ 143 แห่งตามรายงานของกรมราชทัณฑ์ เป็นคดียาเสพติด 76% ในปี 2561 และเพิ่มขึ้นทุกปีมาอยู่ที่ 81.5% ในปี 2564 และมีข่าวการตรวจจับยาเสพติดในต่างประเทศ ในปี 2564 เพียงปีเดียว ศุลกากรจาก 4 ประเทศ ตรวจยึดยาเสพติดจากไทยได้ถึง 10 ครั้ง จนถูกสังคมมองว่าประเทศไทยจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวของโลก กลายมาเป็นผู้ส่งออกยาเสพติดชั้นนำของโลกไปแล้วใช่หรือไม่
ดร.อรุณี กล่าวว่า กฎหมายที่มีช่องโหว่แบบนี้ถือเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทยและการแก้ไขปัญหายาเสพติดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งพวกพ้องตัวเองอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19 แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ ซึ่งทางออกของเรื่องนี้ รัฐต้องเสนอทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายโดยต้องแยกผู้ค้ารายใหญ่และผู้ค้ารายย่อย รวมถึงต้องแยกผู้ค้ารายย่อยออกจากผู้เสพ เพื่อให้สามารถแยกการกระทำผิดและการลงโทษที่ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้กระบวนการฟื้นฟูผู้เสพยาต้องดูแลทั้งกายภาพและการดูแลด้านจิตใจ รวมทั้งต้องจริงจังกับการจัดการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้ระบบเพื่อทุจริตตามอำเภอใจในสถานที่จับกุมคุมขังและสถานบำบัดได้แล้ว
“พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งอยู่สังคมยิ่งเสื่อม 8 ปีก็มากเกินพอแล้วสำหรับความล้มเหลวทุกด้านที่ท่านสร้างขึ้น ทุกวันนี้คนไทยไม่ใช่แค่จน แต่ความปลอดภัยในชีวิตยิ่งลดน้อย เพราะยาเสพติดครองเมือง แค่เปลี่ยนนายกฯ ที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์คนเดียวก็แก้ปัญหาได้ ” ดร.อรุณี กล่าว