นายกรัฐมนตรี พอใจผลงานการเดินหน้าปราบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สั่ง รมต.จิราพร ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินหน้าปราบต่อเนื่อง ยอมรับกังวลบุหรี่ไฟฟ้าที่พัฒนาใส่สารเสพติด เป็นจุดเริ่มต้นการเสพของเด็กและเยาวชน

.

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ FB เรื่องเรียกประชุมคณะทำงานปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกัน โดยมีข้อความดังนี้

.

“บุหรี่ไฟฟ้า ต้องเดินหน้าปราบปรามผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอย่างเด็ดขาด

.

กว่า 2 สัปดาห์ที่ข้อสั่งการเรื่องปราบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ตัวเลขสถิติการปราบปรามดีขึ้นและน่าพอใจค่ะ นั่นคือมีการดำเนินคดี 1,078 คดี , ผู้ต้องหา 1,104 คน , จำนวนของกลาง 900,444 ชิ้น มูลค่าของกลาง 118,953,915 บาท

.

แต่แน่นอนว่าเรายังไม่พอใจแค่นี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าอย่างเข้มข้นต่อไป วันนี้จึงได้มีวงประชุมกับท่านรัฐมนตรีจิราพร ซึ่งได้มอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ ร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัพเดทการทำงานและข้อจำกัดที่เจอระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลักลอบบุหรี่ไฟฟ้าข้ามแดน , การเสริชหาบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างง่ายดายในโซเชียลมีเดีย เรื่องนี้ต้องเร่งจัดการโดยทันที

.

สิ่งที่ดิฉันฝากท่านรัฐมนตรีและตำรวจเพิ่มเติม คือ บุหรี่ไฟฟ้าบางตัวที่พัฒนาให้ใส่สารเสพติดลงไปได้ หลายคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์เสพยาเสพติด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเสพของเด็กและเยาวชน ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด เราเดินหน้าอย่างจริงจัง เพราะนี่คือทุกข์ใหญ่ของพี่น้องประชาชนจริงๆ ค่ะ”

.

ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือกับนายกรัฐมนตรีว่าได้หารือร่วมกับ นายกฯ ถึงการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศรวมถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด 

.

ภายหลังจากที่ นายกฯ มีข้อสั่งการในการประชุมพัฒนารัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา รมว.ประจำสำนักนายกฯ ได้เรียก 20 หน่วยงาน มาประชุมเพื่อวางกรอบในการทำงาน โดยได้วางไว้ 3 ส่วนหลัก 

.

1.คือการป้องกันการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหลัก 

2.ยกระดับการใช้กฎหมายให้เข้มข้น และ 

3.การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ โดยบูรณาการปูพรมกวาดล้างร้านค้า ทั้งแบบออนไลน์และแบบมีที่ตั้ง โดยยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็กจะไม่เล็ดลอดเด็ดขาด หากเป็นรายเล็ก ก็จะขยายผลไปสู่รายใหญ่

.

นางสาวจิราพร กล่าวต่อว่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์กว่าภายหลังจากมีข้อสั่งการจากนายกฯ ยอดคดีที่จับกุมการกระทำผิด อยู่ที่ 1,078 คดี ของกลางกว่า 900,000 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 118 ล้านบาท ซึ่งยอดการจับกุมในครั้งนี้เทียบเท่ากับจำนวนคดีในปี 2567 ทั้งปี แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่

.

ส่วนนายกฯ ได้มีการกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่นั้น นางสาวจิราพร กล่าวว่า นายกฯ ได้ห่วงใยเป็นพิเศษในเรื่องของเด็กและเยาวชน เพราะนอกจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้วยังมีสินค้าอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “แก๊สหัวเราะ” ที่พุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลกังวล ซึ่งเมื่อวานนี้ (13 มี.ค.2568) มีการจับกุมไปแล้ว 3 คดี และมี 1 คดีที่น่าสนใจคือ การลักลอบผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเจ้าแรกในประเทศไทย นายกฯจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานอย่างเข้มข้นในการกวาดล้าง

.

ส่วนกรณีที่มีร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าปิดหนีก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะลงพื้นที่จับกุมจะแก้ปัญหานี้อย่างไร น.ส.จิราพร กล่าวว่า รัฐบาลได้รับเสียงสะท้อนจากสื่อสังคมออนไลน์ว่า ขณะนี้หาซื้อบุหรี่ไฟฟ้ายากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการปราบปรามอย่างจริงจัง

.

นอกจากเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีในเชิงรุกในการกวาดล้างแล้ว จะมีการเปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการ และจะมีพื้นที่ขึ้นแสดงผลให้ประชาชนได้ติดตาม ว่าที่ตั้งร้านค้ามีจำนวนเท่าใดและมีความคืบหน้าในการจับกุมไปถึงขั้นตอนใดแล้ว เชื่อว่าในระยะเวลา 30 วันจะดีขึ้น

.

เมื่อถามถึงการพัฒนาระบบแจ้งออนไลน์ที่พัฒนาร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จะเป็นการให้แจ้งเบาะแสแค่ในส่วนของผู้ขายหรือจะมีให้ร้องเรียนผู้เสพด้วยนั้น นางสาวจิราพร กล่าวว่า ทุกรูปแบบแต่จะเน้นการนำเข้าและผู้ขาย เพื่อให้สินค้าที่เป็นบุหรี่ไฟฟ้าถูกกว่าร้าน

.

ส่วนกรณีที่มีภาพปรากฏว่า สส.พรรคฝ่ายค้านมีภาพปรากฏสูบบุหรี่ไฟฟ้าในอาคารรัฐสภา นางสาวจิราพร กล่าวว่า ทางรัฐสภา ก็จะต้องดูว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการดำเนินการ และในส่วนของ สส.เองก็เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและกฎหมายด้วย หากคิดว่ากระทำความผิด ก็สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ โดยเฉพาะแรงที่ซื้อขาย 

.

เมื่อถามว่า ในอนาคตบุหรี่ไฟฟ้ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแก้ไขให้ถูกกฎหมาย นางสาวจิราพร กล่าวว่า เป็นเรื่องระยะยาวแต่ขณะนี้คิดว่าต้องเป็นการปูพรมกวาดล้าง เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย

.

ส่วนการแก้ไขกฎหมายต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาคุยกัน และรับฟังทุกภาคส่วน ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรก็คงจะมีรายงานจากคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนการแก้กฎหมายจะแก้อย่างไรนั้น ต้องมาดูให้ละเอียดเพราะมีการแก้หลายฉบับ ต้องคำนึงถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ วิธีการรับมือเพราะแต่ละประเทศก็มีวิธีการรับมือบุหรี่ไฟฟ้าไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้อง ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในระยะยาว

.

ขอขอบคุณ ไทยพีบีเอส 

https://www.thaipbs.or.th/news/content/350206

#พรรคเพื่อไทย