แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย 8 กุมภาพันธ์ 2557
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
การแก้ไขปัญหา
28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องกระทำโดยองค์กรใดและด้วยวิธีใด
1. การที่
กกต. อ้างว่าปัญหาที่เกิดขึ้นใน 28 เขต ทำให้ต้องตราพระราชกฤษฎีกาใหม่นั้น
ปัญหาดังกล่าวเกิดจาก กกต. เอง กล่าวคือ
1) กกต.
ไม่หาทางแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงตั้งแต่แรก
โดยไม่ดำเนินการรับสมัครในพื้นที่ที่เป็นไปได้ เช่น
ในค่ายตำรวจหรือทหารดังที่ประสบความสำเร็จกรณีจังหวัดนครศรีธรรมราชบางเขต
2) เมื่อเลยระยะเวลาการรับสมัครแล้ว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้หารือกับตัวแทนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
โดยตัวแทนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยขอให้ กกต.
ใช้อำนาจของตนขยายวันรับสมัครและหาสถานที่ที่เป็นไปได้ แต่ กกต. ไม่ทำ
3) ต่อมา
กกต. ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญก็ช่วยวินิจฉัยว่าเลื่อนได้ โดยให้ กกต. หารือกับคณะรัฐมนตรี
แต่ในที่สุดก็มีการดำเนินการเลือกตั้งต่อไปจนเรียบร้อยไปถึง ร้อยละ 89.2 โดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง นองเลือดใดๆ
ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คาดการณ์และแสดงความวิตกกังวล
2. การขัดขวางการเลือกตั้งนั้นดูเสมือนกระทำกันเป็นขบวนการ
ตั้งแต่การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การปิด กทม.
การขัดขวางการรับสมัครและการเลือกตั้งของกลุ่มอนาธิปไตยและอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
การที่นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบุคคล การใส่ร้ายต่างๆ
เพื่อล้มรัฐบาลและเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง
การเคลื่อนไหวของกระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” หรือที่ต่างประเทศเรียก “Judicial Coup” การรับเรื่องและการเร่งรัดพิจารณาเรื่องที่สอดคล้องกับขบวนการดังกล่าวโดยศาลรัฐธรรมนูญ
หรือกรรมการ ปปช. บางคน
ถึงขนาดแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นกลางอย่างชัดแจ้งต่อสาธารณะ
การเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหาร และแม้แต่ กกต. เอง เมื่อเริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่
ก็แสดงท่าทีว่าควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
3. พระราชกฤษฎีกาที่กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่2กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรนั้น
เป็นพระราชกฤษฎีกาที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ซึ่งเป็นกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
การที่รัฐธรรมนูญบังคับให้พระราชกฤษฎีกาต้องกำหนดว่าวันที่2 กุมภาพันธ์
เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปและเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ก็เพื่อเป็นวันอ้างอิงสำหรับการนับอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่มีกำหนดคราวละ4 ปี (มาตรา 104) วันเริ่มต้นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(มาตรา 105) เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพราะการได้มาและการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น
ไม่อาจเริ่มในวันเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีขั้นตอนการประกาศผล การรับรอง
การเลือกตั้งซ่อม ซึ่งแม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ามาภายหลัง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่สมาชิกภาพก็คงมีเท่าอายุสภาที่เหลืออยู่เท่านั้น
4. รัฐธรรมนูญบัญญัติถึงการตราพระราชกฤษฎีกไว้ 2 กรณีใหญ่ๆ คือ
1) การตราพระราชกฤษฎีกาเฉพาะเรื่องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยตรง
เช่น พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 107,
108) วันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
(มาตรา 118) การเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก
(มาตรา 127) การเปิด
การขยายเวลา การปิดประชุมรัฐสภา (มาตรา 128)เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นขององคมนตรี
ฯลฯ (มาตรา 196)ฯลฯ
2) พระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 187ซึ่งโดยหลักแล้วจะต้องมีกฎหมายรับรองให้ตราพระราชกฤษฎีกาประกอบกันไป
เช่น พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2556 ดังนั้น จะอาศัยอำนาจการตราพระราชกฤษฎีกา
ตามมาตรา 187 ไปแทนที่การตราพระราชกฤษฎีกา
ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นการเฉพาะเรื่องและวางเงื่อนไขไว้เป็นพิเศษไม่ได้
5. รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร
บัญญัติถึงวันเลือกตั้งและวันลงคะแนนไว้ กล่าวคือ
1) การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นวันลงคะแนนด้วยนั้น
เป็นการกำหนดตามที่รัฐธรรมนูญบังคับ
2) การลงคะแนนในวันเลือกตั้งทั่วไปอาจไม่สมบูรณ์
เพราะมีเหตุจลาจล อัคคีภัย อุทกภัย เหตุสุดวิสัย ฯลฯ ในบางหน่วยเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 78 จึงให้ กกต. จัดวันลงคะแนนใหม่ได้
หรือการเลือกตั้งใหม่เพราะกรณีใบเหลือง ใบแดง
3) รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ “บุคคลมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบว่าด้วยการเลือกตั้ง
จึงให้อำนาจ กกต. ไปจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า
นั่นคือให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าได้สำหรับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ
และผู้ที่อยู่ในประเทศที่อยู่นอกเขตเลือกตั้ง
สรุปก็คือ
วันเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรนั้น
เป็นวันอ้างอิงในการนับอายุสภาและสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่วันลงคะแนนเลือกตั้งจะมี 4 ช่วง คือ หนึ่งวันเลือกตั้ง (วันลงคะแนน) ในต่างประเทศ สอง วันเลือกตั้ง (วันลงคะแนน) ในประเทศล่วงหน้าสาม วันเลือกตั้งทั่วไป (วันลงคะแนน) สี่ วันเลือกตั้ง (วันลงคะแนน)
หลังวันเลือกตั้งทั่วไป เพราะเหตุจลาจล อุทกภัย ฯลฯ รวมถึงเพราะกรณีใบเหลือง ใบแดง
6. การดำเนินการเพื่อให้การเลือกตั้งใน 28 เขต ที่เหลืออยู่เดินหน้าต่อไปนั้น
จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้
ตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง (ลต 1/2557) ที่วินิจฉัยว่า “ดังนั้นการที่ผู้ร้องไม่สามารถยื่นใบสมัครต่อ ผอ.
การเลือกตั้งประจำเขตฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
จากเหตุที่มีผู้ชุมนุมประท้วงขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ
กกต. ตามรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องควบคุม และดำเนินการจัดมีการเลือกตั้ง สส.
ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรมต่อไป” โดยสืบเนื่องมาจากผู้ที่ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ไปร้องขอศาลฎีกาเพื่อสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2549 ที่ว่า “กกต.
เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา 2549 ให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ
มาตรา 144 ได้บัญญัติไว้”
7. เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปแล้ว
คณะรัฐมนตรีหามีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอีกต่อไปไม่
เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมุ่งหมายให้เป็นอำนาจของ กกต. เท่านั้น
เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรม ดังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่9/2549ที่ว่า “เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว
การดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง
ก็จะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามที่ รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”
ดังนั้น
คณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะทูลเกล้าฯ
เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งใหม่ขึ้น ทั้งๆ ที่
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งปัจจุบันยังมีผลใช้บังคับอยู่โดยสมบูรณ์
หากฝ่าฝืนกระทำไปโดยรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ
จึงสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายและไม่บังควรอย่างยิ่ง