“กิตติรัตน์” ระบุ ประชาชนปรารถนากระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม ไม่ได้ขอนิรโทษกรรมให้ใคร
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว Kittiratt Na-Ranong (กิตติรัตน์ ณ ระนอง)
ประชาชนปรารถนากระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม… ไม่ได้ขอนิรโทษกรรมให้ใคร
สิ่งที่เกิดขึ้น กับ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร ตั้งแต่การเดินขบวนขับไล่รัฐบาล โดยกลุ่ม กปปส. จน นายกรัฐมนตรีประกาศ
ยุบสภาผู้แทนราษฎร คืนอำนาจให้ประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2556
และเสนอให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
แต่ถูกกระบวนการต่างๆ ขัดขวาง จนไม่สามารถ จัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ
มีลำดับเหตุการณ์ที่น่าจับตาดูหลายเหตุการณ์ โดยลำดับ
1.
วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 นายกรัฐมนตรี
ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วย รัฐมนตรีจำนวนมาก (ทั้งที่ไม่เคยเป็นผู้ถูกกล่าวหา
มาก่อน) พ้นจากหน้าที่ รักษาการ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี ด้วยคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ
จากกรณีการโยกย้ายอดีตเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ
2.
ในวันรุ่งขึ้น
คณะกรรมการ ปปช. ประกาศชี้มูลความผิด ในโครงการรับจำนำข้าว
แบบรวมคดีทั้งการยื่นถอดถอนต่อ สภาฯ และคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติ ต่ออดีต
นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์
3.
และ ในเวลา 2 สัปดาห์ ต่อมา ก็ตามด้วยการ รัฐประหาร ที่นำโดย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งทำให้มีการแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 แทนฉบับปี 2550 ที่ถูกการรัฐประหารยกเลิกไปแล้ว
4.กระบวนการ ของ
ปปช. เพื่อยื่นถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ในเดือนมกราคม 2558 ที่ปรากฏชัดเจนถึง ความรวบรัดเร่งรีบ และอ้างถึงกฎหมายสูงสุด
คือรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550
ที่ถูกยกเลิกไปแล้วในการดำเนินการ
เพื่อหวังผลการตัดสิทธิทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น
แต่ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และทั้งๆ ที่
ปปช.ก็ระบุในคำวินิจฉัยของตนเองว่า ไม่พบหลักฐานว่า อดีตนายกรัฐมนตรี
ยิ่งลักษณ์กระทำการทุจริต หรือเอื้อให้กระทำการทุจริต
แต่พยายามยัดเยียดความคิดที่ว่า มีพฤติกรรมที่ “ส่อ…” และกล่าวหาว่า
ผู้ถูกกล่าวหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดความเสียหาย โดยนำเอา ตัวเลข
“การขาดทุนทางบัญชี” หรือ “ค่าใช้จ่ายสุทธิของโครงการฯ” หลายๆ
ฤดูการผลิต หลายๆ ปีบัญชี ที่ยังไม่มีข้อยุติ มารวมทบๆ
กันให้เข้าใจว่าเป็นตัวเลขที่มากและเพิ่มขึ้นๆ มาชี้วัด
เป็น”ความเสียหาย”ที่ทำให้ อดีตนายกรัฐมนตรี
มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติ ไม่ยับยั้งโครงการ
ซึ่งตัวเลข”การขาดทุนทางบัญชี” ที่นำมากล่าวหาอย่างบิดเบือนว่าเป็นความเสียหาย
(เพราะยอมไม่นำประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการมาพิจารณาด้วย)
ยังไม่เป็นข้อยุติเพราะมีหลักฐานที่ขัดกัน
ในด้านปริมาณสินค้าคงคลังในปริมาณที่มีนัยยะสำคัญ และสมมุติฐานด้านราคา
และค่าเสื่อมราคา ที่นำมาใช้ในการปิดบัญชี
ทั้งๆ ที่มีข้อมูลชัดเจนว่า โครงการรับจำนำข้าว มี
“ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” สูงกว่า “ค่าใช้จ่ายสุทธิ”
ทั้งในกรณีรายปี และยอดสะสมหลายปีรวมกัน อย่างมากมาย
การบิดเบือนว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาฆ่าตัวตายเพราะได้รับเงินช้า
ทั้งๆที่ การจ่ายเงินแก่ชาวนาที่จ่ายตรงเข้าบัญชีชาวนาที่ ธกส. ใน 4 ฤดูการผลิตแรกไม่มีความล่าช้าแต่อย่างใด แต่ที่มาล่าช้าในฤดูการผลิต
ข้าวนาปี 2556/57
ก็เพราะการขัดขวางของกลุ่ม กปปส.
ที่มีสมาชิกหลายคนมานั่งอยู่ในสภานิติบัญญัติต่างหาก
ข้อท้าให้ไปถามชาวนาว่าเขาโกรธ อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ หรือกลุ่ม กปปส.กันแน่
5.
ไม่เพียงเท่านั้น
ยังมีเหตุการณ์ความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ ที่ อัยการสูงสุด แถลงว่าจะส่งฟ้อง
อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีอาญา เพียงหนึ่งชั่วโมงก่อนการลงมติถอดถอนของ สนช.
ทั้งที่หัวหน้าคณะทำงานที่ อัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นเอง ยังดำเนินการไม่เสร็จ
และไม่ทราบเรื่อง การสรุปร่วมกับ ปปช.
สิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของประชาชนที่ก่อให้เกิดความแคลงใจ
ไปจนถึงความคับใจในความยุติธรรม รวมทั้งอยู่ในสายตาของ ประชาคมธุรกิจ
และเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจใน
“หลักนิติธรรม” ของประเทศ
คำเตือนนี้ไม่มีความประสงค์
จะให้เป็นคำขู่
เพราะคงไม่มีใครต้องกลัวผมแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ผมใช้เวลาส่วนใหญ่กับ
กีฬา และดนตรี เท่านั้น แต่ผมขอเตือนสติผู้เกี่ยวข้องที่มี อำนาจหน้าที่ ว่า
“การขาดหลักนิติธรรม” จะกลายเป็นชนวนแห่งความสูญเสียของประเทศในทุกด้าน
โดยไม่มีใครต้องออกมาประท้วงกันตามท้องถนน แต่ความแคลงใจ ความคับใจ
และความไม่มั่นใจ จะส่งผลเสียต่อการลงทุน การสร้างงาน และการบริโภค
จนกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างประมาณค่ามิได้