ความเห็นของพรรคเพื่อไทย ต่อการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ความเห็นของพรรคเพื่อไทย
ต่อการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
จากกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ได้มีมติเสียงข้างมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 นั้น
สมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านพรรคเพื่อไทย
ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้ เกิดจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 อันนำมาซึ่งการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550
และการมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
คณะกรรมาธิการยกร่างฯก็ดี สปช.ก็ดี ล้วนมาจากการรัฐประหาร กระบวนการขั้นตอนในการยกร่างก็มาจากการกำหนดโดยกระบวนการรัฐประหาร เป็น Road Map ที่
คสช.กำหนดขึ้นเองทั้งหมด จากที่กล่าวว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือปีเศษๆ
เพื่อให้มีการเลือกตั้ง แต่ต่อมาก็ขยายออกไปเรื่อยๆ เช่น การต้องมีการลงประชามติ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ
สปช.
จนมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม
2558 ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของ
สปช. ก็จะมีคณะกรรมการร่างฯ 21 คน ภายใน 1 เดือน ทำหน้าที่ร่างอีก 6 เดือน
ไปทำประชามติอีก 4 เดือน ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 6 เดือน และอีก 4
เดือนจึงจะมีการเลือกตั้ง รวมแล้วนับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช. จะใช้เวลาอีก
21 เดือน
Road Map ดังกล่าวจะสั้นหรือยาว
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนเลยแม้แต่น้อย หากขึ้นอยู่กับ คสช.เพียงองค์กรเดียว การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย
สปช. ก็ล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของ คสช.ทั้งสิ้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่ายิ่งการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและสุจริตล่าช้าออกไปเท่าใด
ประเทศชาติและประชาชนก็ยิ่งเสียหายและเสียโอกาสในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งจำเป็นต้องให้ระบอบการปกครองของประเทศเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล
โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
2.
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การแก้ปัญหาเรื่องความแตกแยกและสร้างความปรองดองนั้น
หัวใจสำคัญอยู่ที่การเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้พูดจากันอย่างเต็มที่ การลดอคติ
การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายขององค์กรต่างๆ การใช้ท่าทีที่แสดงถึงความเมตตาปรารถนาดีต่อกันของทุกฝ่าย และการให้อภัยซึ่งกันและกัน
ดังนั้นการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่หรือกติกาใหม่ต่างๆ
การสร้างกลไกที่แปลกพิสดารทั้งหลาย
ที่ผิดไปจากหลักสากล โดยอธิบายว่าเพื่อให้เหมาะกับสังคมไทย ล้วนเป็นข้ออ้างเพื่อสถาปนาหรือสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น ปัญหาทั้งหลายไม่ว่าจะเลวร้ายเพียงใด ล้วนต้องแก้ไขโดยระบบปกติที่เป็นสากล
เพื่อสร้างบรรทัดฐานและการตกผลึกที่เหมาะสมต่อไปโดยยึดถืออำนาจการตัดสินใจของประชาชน
ไม่ใช่บุคคลหรือองค์กรใด
3.
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า หากยังคงร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ภายใต้กระบวนการยกร่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์
กระทำแบบปิดลับเช่นที่ผ่านมา มีแต่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งจนไปสู่วิกฤตที่เลวร้าย
และไม่มีหลักประกันใดๆว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี เป็นประชาธิปไตย
และใช้เวลายาวนานเท่าใด พรรคเพื่อไทยจึงเสนอให้ คสช.แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว
2557 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การใช้กระบวนการ
ส.ส.ร. หรือกระบวนการอื่นใดที่เหมาะสม
และให้กระบวนการในการยกร่างเป็นไปอย่างเปิดเผย เป็นกลาง ภายในระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับและเห็นชอบของทุกฝ่าย
ซึ่งจะทำให้เกิดความชอบธรรมและเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการเยียวยาและแก้ไขความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้
ทั้งนี้โดยคำนึงถึงการเร่งจัดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
เพื่อให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
พรรคเพื่อไทย
10 กันยายน 2558