คำแถลงพรรคเพื่อไทย : คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๕๓/๒๕๖๐ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๕
คำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๕๓/๒๕๖๐
ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๕
ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 นั้น
สมาชิกพรรคเพื่อไทยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในหลายประการและเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของสมาชิกพรรคการเมืองและพรรคการเมือง จึงได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ข้อ 17 (12) และข้อ 21 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย โดยประเด็นสำคัญที่เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้น มีดังนี้
ประเด็นแรก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 จึงไม่เป็นที่สุด และชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งดังกล่าวได้ เนื่องจาก
(1) สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เป็นเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว รัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และมาตรา 132 บัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐสภา (หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติปัจจุบัน) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้นได้ผ่านกระบวนการตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ผ่านการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว การที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเท่ากับเป็นการลบล้าง (Overrule) กระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ
(2) ประเทศไทยมีความเป็นนิติรัฐหรือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย มิใช่โดยอำนาจของบุคคล มีรัฐเป็นกฎหมายสูงสุด ยึดหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้แก่องค์กรต่างๆ มีหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้น หัวหน้า คสช.จึงเป็นเพียงผู้ได้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง จึงไม่อาจใช้อำนาจที่ขัดหรือแย้งหรือนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้
ประเด็นที่สอง คำสั่งหัวหน้า คสชที่ 53/2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนี้
(1) การที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้และใช้อำนาจซึ่งเป็นขององค์กรอื่น อันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และมาตรา 132 จึงเป็นการกระทำโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง
(2) การออกคำสั่งที่มีผลเป็นการลบล้างสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมือง มิใช่การออกกฎหมายจำกัดสิทธิเท่านั้น แต่เป็นการยกเลิกสิทธิของการเป็นสมาชิกพรรค จึงกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเป็นการออกกฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล จึงขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก
(3) การกำหนดให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรค ถ้าจะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปต้องทำหนังสือยืนยันต่อหัวหน้าพรรคพร้อมแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามภายใน 30 วัน ซึ่งลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายของการเป็นสมาชิกพรรคมีหลายประการ ต้องขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ถึง 14 หน่วยงาน กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคแรก และยังขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคแรกด้วย เนื่องจากผู้ที่สมัครสมาชิกใหม่ไม่ต้องดำเนินการดังกล่าว
(4) ในคำสั่งมิได้ระบุเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมืองข้างต้นไว้ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก เช่นกัน
นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ยังเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมืองด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินให้ดำเนินการต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
๑๗ มกราคม ๒๕๖๑