สัมภาษณ์พิเศษ : สับร่างรธน.มองข้ามปชช.

การยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ในช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ หลายประเด็นถูกวิจารณ์ขัดหลักประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจ สกัดกั้นขั้วอำนาจเก่า 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองกติกา ใหม่นี้อย่างไร ที่มาของแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยต่อการร่างรัฐธรรมนูญ 

สมาชิกและนักการเมืองในพื้นที่ที่ได้พบปะประชาชนรวมทั้งประชาชนเองได้สะท้อนเรื่องดังกล่าวเข้ามา พรรคได้รวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมดออกมาเป็นแถลงการณ์

จะด้วยความปรารถนาดีหรือด้วยความไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ แต่กรรมาธิการ(กมธ.) ต้องยอมรับว่าแก้ปัญหาต้องให้ถูกจุดและเข้าใจปัญหาด้วย ต่อให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรม 

หลายประเด็นยังต้องถกเถียง ไม่อาจยอมรับไปได้ง่ายๆ เพราะขัดกับหลักการ พื้นฐานที่เคยเชื่อ ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ หลักการสำคัญคือต้องให้เวลากับประชา ธิปไตย ให้เวลาประชาชนได้เรียนรู้จากระบบที่เป็นจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่รับรู้มา 

แม้กระทั่งโพลของกมธ.ยกร่าง ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ มาจากการแต่งตั้ง และ ส.ว.จากการเลือกทางอ้อม สวนทางกับสิ่งที่กมธ.กำลัง ทำอยู่ และแนวโน้มการร่างกำลังลดอำนาจประชาชนที่เป็นคนตัดสินใจเกือบทุกขั้นตอน 

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงตอนนี้ 

ขอยกตัวอย่าง 4-5 เรื่องซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ๆ กรณีพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนว่ากำลังให้ ความสำคัญกับพรรคการเมืองทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ฟังดูโอเคมีเหตุผล แต่จะทำให้ระบบพรรคการเมือง ไม่เข้มแข็ง 

คุณต้องให้พรรคข้างมากที่ประชาชนไว้วางใจ มีศักยภาพผลักดันนโยบายที่สัญญากับประชาชน แต่พอ เป็นระบบพรรคเล็กพรรคน้อย ซึ่งเกือบ 80 ปีเห็นมา ตลอด เวลามีพรรคเล็กพรรคน้อยจะได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ 

เกิดการทำลายความน่าเชื่อถือในทางการเมืองในสภา ยกโหวตแต่ละญัตติ หรือโหวตตั้ง ครม.ก็จะพูดกันด้วยการใช้เงิน ตำแหน่งแห่งที่ หรือผลประโยชน์เป็นตัวนำ ดังนั้น ต้องชั่งใจ ไม่มีอะไรที่ถูกต้องสมบูรณ์แต่ต้องมีระบบที่เข้ามาดูแลให้ดี ไม่ให้สะวิงไปมา 

หลายคนในกมธ. เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ มีประสบการณ์เห็นมาหมดแล้ว ดังนั้น ต้องยอมรับว่ามันยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ แต่มันมีหลักที่สากลที่นานาประเทศ ทำกัน ส่วนของเราจะจัดแค่ไหนให้เหมาะสมก็ต้องเปิดให้ประชาชนมาถกกันให้กว้างขวาง 

ระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่คุณพูดถึงเป็นแบบไหน เพราะหลายคนเป็นครูบาอาจารย์ เวลาสอนลูกศิษย์จะมีปัญหาเพราะตอบคำถามยาก 

เรื่องนายกฯ ไม่ต้องมาจากส.ส. 

การมีนายกฯ ที่มาจาก ส.ส.ซึ่งเป็นคนที่ประชาชนเลือก สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชน ไม่ใช่เอาใครที่ไหนลอยมาแล้วมาบอกว่าเป็นคนดี วันนี้คนดีหรือไม่ดีพูดกันด้วย คำพูดไม่ได้ ยังต้องขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติหลายๆ อย่าง 

พูดกันตรงๆ ยังไม่มีใครกล้ารับปากเลยว่าตัวเองเป็น คนดี 100% ดังนั้นจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่ที่ระบบไม่ใช่คน เพราะเป็นนามธรรม คนดีมีคุณธรรมฟัดกันเองยังมีเลย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เกิดจากคนดีทะเลาะกันเองทั้งนั้น 

ดังนั้น ต้องมีหลักโดยให้อำนาจประชาชนเป็นคนตัดสิน ถ้าระบบไม่ดีหรือดีแตก สุดท้ายประชาชนก็จะเป็นคนตัดสินเองว่าจะเอาอีกหรือไม่ ไม่ใช่เอาใครที่ไหนมาแล้วบอกว่าเป็นคนดี 

ดีของคุณอาจไม่ใช่ดีของผม ดีของผมก็อาจไม่ใช่ดีของคุณ เถียงกันไม่จบสิ้น ดังนั้นต้องทบทวนและต้องชัดเจน อย่าพูดให้คลุมเครือและเกิดการตีความ

ส.ว.ลากตั้งเป็นอีกเรื่องที่มีการคัดค้าน 

ถือเป็นคำถามใหญ่ ประธานกมธ.ไม่สบายใจที่ใช้คำว่า ส.ว.ลากตั้ง ถึงจะพูดกันอย่างไรก็ไม่ได้จากการเลือกตั้งของประชาชน ต่อให้ใช้คำว่าสรรหา คัดสรรหรือเลือกตั้งทางอ้อม ก็เป็นเพียงคำพูดสวยงามทางภาษาแต่มันยึดโยงกับประชาชนหรือไม่ 

วันนี้ปี 2558 ไม่ใช่ 2500 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ที่ชนบทล้าหลัง แต่วันนี้กลายเป็นว่ากำลังสร้างกลุ่มคนและให้อำนาจมหาศาลเข้ามาควบคุม ถอดถอน ออกกฎหมายได้ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้อง ทบทวนจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของอคติ

เรื่องนี้จะยึดโยงไปถึงระบบตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนจะไม่เกรงใจประชาชน ยิ่งมีอิทธิพลและอำนาจในการถอดถอน ประเทศจะไปกันใหญ่ จะเกิดการสร้างระบบที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น 

หวังว่า คสช.ซึ่งเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายจะรับฟัง แม้ คนร่างคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่คนที่ยืนอยู่ข้างหลังได้ ฟังเสียงประชาชน นักวิชาการแล้ว ต้องไปหาจุดสมดุลให้เหมาะสม 

จุดที่ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจ 

การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ หรือแม้แต่สมัชชาพลเมือง ถ้าตั้งใจจะเอาแบบนี้ต้องมีคำอธิบาย เพราะดูอย่างไรก็เหมือนเป็นการสืบทอดอำนาจ 

หากสภาขับเคลื่อนฯ เกิดขึ้นก็เหมือนเป็นรัฐบาลซ้อนรัฐบาล เป็นสภาซ้อนสภา เพราะออกกฎหมายได้ ระงับนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการได้ ทำไมไม่ขอเป็นรัฐบาลชั่วคราวเสียเลย ทำไมจะต้องสร้างกลไกให้ซับซ้อนยุ่งยาก หากคนที่ไม่เข้าใจ คิดแบบเบาที่สุดคือเพื่อประโยชน์แห่งตนหรือเปล่า 

วันนี้กมธ.คิดยังไม่จบ ได้เบี้ยประชุมวันละ 6,000 บาท ประธานได้ 9,000 บาท กินเงินเดือนหลายทาง เดือนหนึ่งบางคนรับหลายแสน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่ว่าคุณเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำหรือไม่ เชื่อในอำนาจอธิปไตยและพลังประชาชน ควรเปิดให้มีการถกเถียงกันให้เต็มที่ 

การลดจำนวนส.ส. 

การวางระบบเลือกตั้งครั้งนี้ต้องการให้พรรคใหญ่เล็กลง ทำให้จำนวน ส.ส.น้อยลง และทำให้ ส.ส.ทะเลาะกันมากขึ้นเพื่อ แย่งลงเลือกตั้ง จากเดิมประชากรแสนกว่าคนมีผู้แทน 1 คน กลายเป็นว่าประชากรสองแสนกว่าคนมีผู้แทน 1 คน จะดูแลประชากรได้ทั่วถึงหรือไม่ หรือแม้แต่กลุ่มการเมืองก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้นั้น ไม่อยากคิดว่าเจตนาไม่ดี แต่สิ่งที่ทำมาทำให้ต้องคิด 

มองว่าการเมืองปัจจุบันนี้ทำให้การซื้อเสียงแบบเดิมๆ ไม่อีกแล้ว มีแต่การขายนโยบายว่าประโยชน์ที่ประชาชนได้คืออะไร แต่หากใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ จะทำให้การคิดนโยบายเพื่อหาเสียงไม่เกิดขึ้น 

บอกว่าระบบราชการเละเทะต้องแก้ไข พอการเมืองเข้ามาก็ไม่ดีอีก สุดท้ายก็ให้ระบบราชการดำเนินการอีก ควรให้ฝ่ายบริหารบาลานซ์ฝ่ายราชการ ไม่ใช่มองฝ่ายการเมืองเป็นเหมือนซาตาน เลวร้ายไปหมด 

ถ้าอยากให้ระบบดี เริ่มจากการเปิดบัญชีทรัพย์สินทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ องค์กรอิสระ เปิดกันให้หมด เพื่อให้ระบบสมบูรณ์ ถ้าระบบดีจะทำให้คนดีได้ คนดีเข้ามาอยู่ในระบบที่ไม่ดีก็มีปัญหา ระบบที่ดีจะช่วยให้คนรักษาความดีไว้ได้ หาก คสช.หวังดีกับประเทศ ขอให้ใช้สติทบทวนหาจุดที่เหมาะสม อย่าไปสุดขั้วกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น

หากกมธ.ตะแบงเดินหน้าต่อ ไม่แก้ไข 

กมธ.ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนจะรับผิดชอบอย่างไรขึ้นกับคนในสังคม อย่างน้อยที่สุดดูแค่ผลวิจัยที่ทำขึ้นมาเองก็พอจะบอกได้แล้วว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร หากไม่ทำตามคนจะมองว่าทำขึ้นมาแค่ความสวยงาม แค่พิธีกรรม

จะรับมือกับสัดส่วน ส.ส.ที่น้อยลงอย่างไร 

เฝ้าดูอยู่ วันนี้ยังไม่คิดอะไรเพราะยังไม่รู้ว่าเขาจะเอาแบบไหนกันแน่ เปลี่ยนทุกวัน พอโยนมาเราคิดตามก็บอกว่ายังไม่ใช่ วันนี้ที่พูดกันว่ายังแก้ได้ ก็ถือเป็นคำปลอบใจ หากชัดเจนเมื่อไรถึงจะเริ่มคิด ขอแค่เอาให้ชัด พูดให้เห็นพ้อง ตัดสินใจให้ชัดเจน มีเหตุผลรองรับ ถ้าจะให้ดีบอกมาด้วยว่าจะรับผิดชอบกับ สิ่งที่คิดอย่างไร ประชาชนจะได้ต่อว่าคนถูก

ความพร้อมต่อการเลือกตั้งช่วงต้นปี 59 

เราไม่ห่วงเรื่องวันเวลา โดยหลักคือการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นเพื่อคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว จะสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ 

เราไม่เคยเร่งรัดแต่ต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ใช้เวลาให้คุ้มค่าเต็มที่ หากคุณและคนส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นต้องใช้เวลา จะเลื่อนการเลือกตั้งจาก ก.พ.เป็นมี.ค. 59 ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายืดออกไปนานคุณต้องรับผิดชอบ 

เราสะท้อนการทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้สื่อให้เห็นว่าไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ไม่เคารพประชาชน ยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน หากยังยืนยันแบบนี้อนาคตจะนำมาซึ่งปัญหาไม่รู้จบ 

หากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตอนนี้ยังมีเวลา ไม่มีใครได้อะไร 100% 

หน้า 3

ที่มา http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNakV6TURNMU9BPT0%3D

Categories: Interview