คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2559 ปีแห่งความ “ยุ่งยาก” และ “ย่ำแย่”

นาย พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2559 ว่ายังคงมีสภาวะย่ำแย่ไม่ต่างจากปี 2558 แต่ ประชาชนอาจจะลำบากมากกว่าเดิม เพราะเจอผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้นนัก แม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวแล้ว ถึงขนาดเริ่มต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะสหรัฐประกาศตัดจีเอสพีไทยในต้นปี 2559 นี้ แถมมีการเรียกร้องไม่ให้ซื้ออาหารทะเลจากไทย การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและคาดกันว่าอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกต่อเนื่อง จะทำให้เงินทุนไหลออกกลับไปสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว และตลาดหุ้นของไทยจะผันผวน ส่วนอียูก็ยังคงตัดจีเอสพีและไม่เจรจาเขตการค้าเสรีกับไทย เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย การตัดจีเอสพีนี้ก็เหมือนกับการแซงชั่นกลายๆเพราะเท่ากับราคา สินค้าไทยต้องแพงขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายภาษีเต็มซึ่งจะสู้สินค้าคู่แข่งไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงซบเซาต่อเนื่องไปอีกหลายปี จึงหวังพึ่งจีนยาก และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้น การคาดหวังก็คงได้เฉพาะการค้ากันเองในกลุ่มอาเซียนแต่ในอนาคตไทยอาจจะต้องนำเข้าจากอาเซียนมากกว่าจะส่งออกเพราะการลงทุนที่ลดลง

 ดังนั้นการที่รัฐบาลคาดหวังว่าการส่งออกที่ตกต่ำในปี 2558 ที่ลดลงกว่า 5.5% จะกลับมาโต 5% ในปี 2559  คงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งการลงทุนก็ยิ่งจะหดหายการที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มหนึ่งเท่า จากปีนี้ที่ย่ำแย่เหลือแค่สองแสนกว่าล้านคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศไม่ต้องการเสี่ยงที่จะลงทุนในไทยเพราะ ไม่แน่ใจว่าจะเจอการกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆเพิ่มอีกขนาดไหน ซึ่งไทยโดนเรื่อง ICAO, IUU, FAA และถูกตัด จีเอสพี มาแล้ว อีกทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการดำเนินคดีในแบบต่างๆที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล แม้กระทั่งการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับฑูตต่างประเทศ ยิ่งทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่มั่นใจมากขึ้น แถมยังมีการโยกย้ายการลงทุนออกไปแล้ว ซึ่งการโยกย้ายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามได้ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน การคาดหวังจะเกิดคลัสเตอร์ของการลงทุนจึงเกิดได้ยาก เพราะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้ามา การเพิ่มสิทธิประโยชน์บีโอไอก็จะไม่ได้ช่วยให้การลงทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะลงทุนเฉพาะส่วนต่อเนื่องจากเดิมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนการนำเข้าที่ลดลงมากโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนแสดงถึงอนาคต การส่งออกที่จะลดลงมากตามไปด้วย การบริโภคในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมากโดยเฉพาะราคายางเนื่องจากราคาน้ำมัน ในตลาดโลก ลดต่ำลง และอาจจะต่ำอีกนาน และอยากให้รัฐบาลไทยและคนไทยได้เข้าใจบริบทใหม่ของโลกที่ราคาน้ำมันจะมีราคาถูกไปอีกนาน ซึ่งจะส่งผลกระทบในหลายเรื่อง ซึ่งในปัจจจุบันประเทศไทยที่ประหยัดการนำเข้าน้ำมันปีละหลายแสนล้านบาท แต่กลับไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ยังเจอภาวะภัยแล้งต่อเนื่องที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถ ปลูกพืชผลการเกษตรได้ คนชั้นกลางก็อาจจะช้อปปิ้งที่หักภาษีได้ในวงเงิน 15,000บาทแล้วอาจจะไม่มีกำลังซื้ออีกมากนักหลังปีใหม่  SME ยังคงประสพปัญหาไม่สามารถขายสินค้า และบริการได้และจะต้องปิดกิจการเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก มาตรการที่ช่วยเหลือ SME ก็เพียงแต่ชะลอการปิดตัวเท่านั้น การท่องเที่ยวอาจจะยังคงไปได้แต่นักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีรายได้ สูงไม่เดินทางเข้ามา เนื่องจากข่าวสารในด้านลบที่กระจายออกไปทั่วโลก และบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ปัญหาความปลอดภัยทางการบินยังไม่ได้หมดไป อีกทั้งปัญหาการก่อการร้าย การลงทุนและการใช้จ่ายในภาครัฐยังมีความไม่แน่นอนในประสิทธิภาพ ของการขับ เคลื่อน และปัญหาความคุ้มค่าในการลงทุนขนาดใหญ่ 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจในปี 2559 ยัง คงที่จะซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งจะยุ่งยากและย่ำแย่ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนไปเรื่อยๆ และโอกาสการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็เริ่มจะหมดไป ซึ่งการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบใน อนาคต แทนที่จะได้เปรียบเพราะไทยจะกลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าแทนที่จะเป็นผู้ส่งออก และไทยจะมีการเจริญเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียนเป็นปีที่ 4 ติดกัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตในระดับที่สูงมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจโต มากกว่าไทยจะตามทันและแซงไทยไปในเวลาไม่ช้านี้

เรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

1) แก้ภาพพจน์ที่ติดลบในข่าวสารที่กระจายออกไปทั่วโลก

2) ต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่า จะเป็นการกีดกันเสรีภาพหรือการจับคนโดยไม่มีข้อหาอันควรตาม มาตรฐานสากล

 3) การยอมรับการเห็นต่างเพื่อนำ มาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

4) ปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องใช้บุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และยอมรับปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา และเร่งหาทางแก้ไข

5) แผนการเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งนี้รวมถึงวันที่ที่แน่นอนในการเลือกตั้ง และ รัฐธรรมนูญที่เป็นหลักสากลที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

Categories: Interview