เกร็ดความรู้ : มหันตภัยบันไดเลื่อน

         จากคลิปอุบัติเหตุบันไดเลื่อนในประเทศจีนดูดร่างหญิงสาวชาวจีนเสียชีวิต ถูกแชร์บนโซเชียล ทำให้เรื่องเกี่ยวกับภัยที่เกิดจากบันไดเลื่อนกลายเป็นที่จับตามอง ต่อมาได้เกิดเหตุเด็กอายุ 1ขวบล้มบนบันไดเลื่อน ทำให้แขนถูกหนีบ และตามมาด้วยชายชาวจีนต้องถูกตัดขาเนื่องจากถูกบันไดเลื่อนดูด ด้วยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักและระมัดระวังตัวมากขึ้น

          ในไทยเองก็เกิดเหตุบันไดเลื่อนในห้างดังย่านวงศ์สว่างพังถล่มและเหตุบันไดเลื่อนหนีบเท้าเด็ก 2 ขวบบาดเจ็บในห้างดังย่านบางแค ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มฉุกคิดถึงความปลอดภัย เพราะสำหรับบางคนอาจพูดได้ว่าการขึ้น-ลงบันไดเลื่อนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเลยทีเดียว ดังนั้นบทความนี้จึงอยากจะนำเสนอวิธีการขึ้นบันไดเลื่อนให้ปลอดภัย ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบันไดเลื่อน

         เลขาธิการสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าพื้นที่ก่อนก้าวเข้าสู่บันไดเลื่อน หนึ่งตารางเมตรสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500-600 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีสกรูน็อตขนาดมาตรฐานยึดไว้อีกประมาณ 2-4 จุด หากจะยกแผ่นตรงบริเวณนั้นออกจะต้องมีอุปกรณ์เข้าไปปลดล็อกอีกขั้น หากพบว่ามีการชำรุดต้องรีบปิดซ่อมแซมทันที ฉะนั้นจากข่าวที่สาวชาวจีนถูกบันไดเลื่อนดูดลงสู่เบื้องล่าง เนื่องจากพื้นที่ยืนเหยียบอยู่เปิดออกนั้นเป็นความผิดพลาดทางการซ่อมแซมและตัวอุปกรณ์เอง

        แต่ส่วนที่น่ากลัวที่สุดคือ ส่วนขอบบันไดเลื่อนชิดที่วางเท้า (ตามภาพประกอบ) เพราะระหว่างบันไดเลื่อนเคลื่อนที่จะเกิดการเสียดสี ดูดเอาสิ่งที่อยู่แนบชิดติดกับแผงกั้นลงไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แขน ขา โดยเฉพาะผู้ที่สวมรองเท้ายางที่เกิดการเสียดสีและยืดหยุ่นได้ดี เป็นต้น และสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้บันไดเลื่อนที่ห้างดังย่านวงศ์สว่างพังลงมาก็เพราะว่ามีเศษเหรียญตกหล่นลงไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบติดขัดและพังลงในที่สุด

          วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยชี้แจงว่าไทยมีกฎหมายควบคุมตรวจสอบอาคารที่บังคับให้ผู้แทนอาคารตรวจซ่อมบำรุงบันไดเลื่อนตามกำหนดอยู่เสมอ

    กรรมการผู้อำนวยการ วสท.ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีสังเกตบันไดเลื่อนที่ปลอดภัยว่า ให้ดูความไหลลื่นของราวจับ  ซี่ของบันไดที่ไม่แตกหักมากเกินไป และดูการเคลื่อนที่ว่าความเร็วสม่ำเสมอกันหรือไม่ แต่หากมีอะไรไปขัดในซี่บันได บันไดเลื่อนจะหยุดอัตโนมัติ เพราะมีเซนเซอร์ตรวจจับอยู่ภายใน ที่สำคัญควรมองหา “ปุ่มหยุดฉุกเฉิน” ไว้ทุกครั้งว่าอยู่ตรงจุดใด เพื่อที่จะกดหยุดได้ทันท่วงทีหากเกิดอุบัติเหตุ

   จากข้างต้นอาจเห็นได้ว่าอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อน สามารถเกิดจากการไม่ตรวจเช็คสภาพการใช้งานให้พร้อมก่อนให้บริการ ตลอดจนความประมาท หรือความไม่รู้ของผู้ใช้งานเอง ก็หวังว่าบทความสั้นๆ นี้จะมีประโยชน์แก่ผู้อ่าน ในกรณีที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด อาจจะนำความรู้ในบทความนี้ไปใช้แก้ปัญหาได้
   

แหล่งข้อมูล
http://social.tnews.co.th/content/155090/
http://www.posttoday.com/analysis/report/380202
http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9580000088739&Html=1&TabID=2&
http://www.krobkruakao.com/ข่าวสังคม/135017/วสท-แถลงใช้บันไดเลื่อนปลอดภัย-ไม่ซับซ้อน.html
http://www.thairath.co.th/content/516216