ที่มาของโครงการจำนำข้าวช่วยชาวนา
ที่มาของโครงการจำนำข้าวช่วยชาวนา
การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวนา
โครงการรับจำนำข้าวช่วยชาวนาเป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดในการผลิตและการตลาดของสินค้าข้าวซึ่งเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 84 (8) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และนโยบายการรับจำนำข้าวมีมานานกว่า 30 ปีแต่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรับจำนำข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดและรับจำนำปริมาณน้อย จึงไม่สามารถทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้นได้ ชาวนาจึงขายข้าวได้ในราคาต่ำมีรายได้ไม่คุ้มทุนและไม่เพียงพอต่อการยังชีพแม้ว่าในช่วงหลัง จะมีการนำโครงการประกันรายได้มาใช้แต่ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาชาวนาในเรื่องความยากจนหนี้สินและชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและด้อยโอกาสกว่าประชากรอาชีพอื่นได้
รัฐบาลยิ่งลักษณ์เห็นว่านโยบายรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาชาวนาแต่ต้องปรับราคาจำนำข้าวให้สูงกว่าราคาตลาดและจะต้องรับจำนำข้าวในปริมาณมาก ทั้งนี้เพื่อให้มีพลังผลักดันให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงตามราคาจำนำด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งกับชาวนาที่เข้าร่วมและชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและทางด้านสังคมด้วยจึงได้เสนอนโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
การบริหารโครงการรับจำนำข้าว
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้วางแผนการบริหารและขั้นตอนการดำเนินโครงการได้เป็นอย่างดีเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความเสียหายและป้องกันการทุจริตโดยได้นำระบบงานที่เคยทำกันมาในรัฐบาลที่ผ่านๆมา รวมทั้งคำแนะนำจากหน่วยงานต่างๆเช่น ป.ป.ช. และ สตง. เป็นต้น มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จมาด้วยดี จนกระทั่งมีวิกฤตการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ปลายปี 2556 ต่อเนื่องมาจนเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โครงการรับจำนำข้าวช่วยชาวนาจึงเป็นโครงการสาธารณะเช่นเดียวกับโครงการที่รัฐบาลอื่นๆดำเนินการเช่น
1.โครงการฯ ปรส. 8 แสนล้านบาท
2.โครงการฯหระกันรายได้ 1.3 แสนล้านบาท
3.โครงการฯช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท งบ 4.5 หมื่นล้านบาท
4.โครงการฯช่วยชาวสวนยาง 2 หมื่นล้านบาท
โครงการสาธารณะถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติอีกทั้งยังเป็นการสร้าง รากฐานที่ดีให้กับประเทศอีกด้วยดังนั้นพระราชกฤษฎีกาว่าโดยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 จึงกำหนดให้การประเมินความคุ้มค่าของโครงการพิจารณาจากผลประโยชน์โดยรวมที่มีต่อประชาชน เศรษฐกิจ และ สังคมของประเทศไม่ใช่เรื่องผลกำไรขาดทุนและให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) เป็นผู้ประเมินซึ่งทั้งสองหน่วยงาน ได้ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนโครงการมาโดยตลอด