รู้ทันไข้ซิก้า ไวรัสซิกาอันตรายแค่ไหน
หลังจากมีการพบว่าทารกแรกเกิดในประเทศบราซิลเกิดความผิดปกติทางสมอง ลักษณะทารกแรกเกิดศีรษะเล็กลีบ ทำให้ชื่อของไข้ซิก้า (Zika fever) ได้รับความสนใจในประเทศไทยในขณะนี้ ไวรัสซิก้าไม่ใช่โรคใหม่ที่ระบาด แต่มีการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอูกันดาเมื่อปี 2490 จากน้ำเหลืองของลิง ที่ใช้ในการศึกษาไข้เหลืองในป่าชื่อซิกา และคนพบในมนุษย์ครั้งแรกที่ประเทศประเทศไนจีเรีย เมื่อปี 2511 ถือได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่นของแอฟริกา และแพร่ระบาดมาเอเชีย
เชื้อไวรัสซิกา อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) จำพวกเดียวกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่นๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง
ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ได้มีการรายงานในประเทศบราซิลถึงความผิดปกติในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก เนื่องจากเกิดภาวะสมองอักเสบของทารกในครรภ์
การป้องกันและรักษา เนื่องจากไข้ซิก้ายังไม่มียารักษา ในปัจจุบันจึงทำได้เพียงรักษาไปตามอาการของผู้ป่วย โดยปกติผู้ป่วยจะหายเอง แต่ในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย สามารถป้องกันได้โดยการ ระวังไม่ให้ยุงกัด นอนในมุ้ง ทายากันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำและยุงลายตัวแก่ หากป่วยด้วยอาการไข้ ออกผื่น เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดศีรษะรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
ที่มา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค
ภาพประกอบจาก เอเอฟพี