จากภัยแล้งสู่การปล่อยน้ำสู่แม่น้ำโขง ของจีน …แผนบริหารจัดการน้ำอยู่ที่ไหน?
จากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจินหง
เหนือแม่น้ำหลานชาง หรือแม่น้ำโขง โดยเริ่มปล่อยตั้งแต่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา
และจะปล่อยจะถึง 10 เมษายนที่จะถึง เพื่อช่วยประเทศเพื่อนบ้าน
บรรเทาความแห้งแล้งในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มีหลายเสียงที่ต่อต้านการกระทำของจีนในครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยต่างชี้ว่าการปล่อยน้ำในครั้งนี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของจีนเป็นหลักมากกว่าการช่วยเหลือภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังประสบภัยแล้ง
ประเมินว่าผลของการปล่อยน้ำในครั้งนี้ จีนจะได้ประโยชน์ที่ชัดเจน
2 เรื่อง คือ
สามารถล่องเรือในแม่น้ำโขงจากจีนมาท่าเรือเชียงแสนได้สะดวกขึ้น
และเขื่อนที่ปล่อยน้ำสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที
ขณะที่ประเทศใต้เขื่อนจีนลงมานั้นล้วนอยู่ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งระบบนิเวศน์หน้าแล้งเป็นช่วงของการขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ
รวมทั้งพืชน้ำซึ่งจะเติบโตในหน้าแล้งและเป็นอาหารของปลา จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ส่งผลสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว
ขณะที่ปัญหาภัยแล้งที่มาเยือนอยู่ในขณะนี้ จนถึงเวลานี้
รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในแผนการจัดการภัยแล้งดังกล่าว การปรากฏเป็นข่าวแต่ละครั้งมีเพียงรายงานตัวเลขระดับน้ำในเขื่อนที่จะอยู่ได้อีกนานเท่าใด
และวาทกรรมประเภทแนะนำให้อาบน้ำน้อยลง ฯลฯ ขณะที่เรื่องของแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมพอที่จะสามารถออกเป็นมาตรการ/โครงการที่จะดำเนินการต่อในทางปฏิบัติได้
จากปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ที่มีค่าสูงที่สุดในรอบ 65 ปี และปริมาณน้ำในเขื่อนที่ระดับต่ำมาก
นับว่าเป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรงกว่าปี 2540 และ 2541
ซึ่งเป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรงที่สุดเช่นกัน และจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ต่ำกว่าในปี 2539
ประกอบกับขนาดเศรษฐกิจไทยที่มีขนาดใหญ่กว่าปี 2540 ซึ่งทำให้ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจใช้น้ำในปริมาณมากขึ้น
มีการคาดการณ์กันว่าภัยแล้งในปีนี้จะลากยาวจนถึงเดือนมิถุนายนหรืออาจจะถึงกรกฎาคม ถ้าปรากฎการณ์เอลนีโญยังไม่ลดกำลังลง
ด้วยสัญญาณเตือนจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะเกิดรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว
โดยมีการเตือนภัยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่าการเตรียมการของภาครัฐกลับน้อยกว่าที่ควรเป็นอย่างมาก
ถ้ามองย้อนดูแผนบริหารจัดการน้ำขอรัฐบาลเดิมที่ถูกระงับตามคำสั่งศาลปกครอง
จะพบว่าหลายโครงการเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือทั้งภัยแล้งและอุทกภัย มีการทำอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในลุ่มน้ำสำคัญ
เช่น แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำชี เป็นต้น
ซึ่งถ้าเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 โครงการบางส่วนจะสอดรับกับปัญหาภัยแล้งในปี
2559 พอดี ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนมาก
ขณะเดียวกันในการจัดการลุ่มแม่น้ำโขงนั้น
ที่ผ่านมารัฐบาลจะดำเนินการประสานงานกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงผ่านคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง
(Mekong River Commission – MRC) รวมทั้งโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
(Great Mekong
Subregion – GMS) ที่เป็นความร่วมมือของ
6 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามและจีน
(ยูนนาน) โดยมีธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB: Asian Development
Bank) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก
ซึ่งเป็นช่องทางในการพูดคุยทั้งในด้านนโยบายและฝ่ายปฏิบัติในการสร้างความร่วมมือพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ด้วยแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ประเทศใดประเทศหนึ่งปฏิบัติต่อแม่น้ำแล้วจะกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านได้
ในกรณีที่จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนลงในแม่น้ำโขงครั้งนี้
จะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้อาศัยช่องทางการติดต่อและความร่วมมือดังกล่าวในการเจรจาต่อรองเพื่อลดผลกระทบต่อการปล่อยน้ำในครั้งนี้ ทั้งที่ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกดังกล่าว
แต่กลับไม่เห็นสัญญาณของการแจรจากับรัฐบาลจีนแต่อย่างใด
ปัญหาภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 65
ปีเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อประเทศไทยในระยะยาว
ขณะที่ความต้องการน้ำในทุกกิจกรรมในอนาคตจะมีปริมาณที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่รับน้ำ
เก็บน้ำไว้ใช้ในยามต้องการกลับมีเท่าเดิม ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยจึงเป็นวัฏจักรที่วนเวียนมาทุกปี
ขณะที่แผนบริหารจัดการน้ำที่จำเป็นอย่างมากในการรองรับความเปลี่ยนแปลง
ความผันผวนของภูมิอากาศและความต้องการน้ำในระยะยาว ยังไม่มีความชัดเจน
คงต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า ได้เตรียมพร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ
เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน หรือยัง?
แม้ว่าแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 9
โมดูลของรัฐบาลเพื่อไทยจะถูกรัฐบาลนี้ล้มไปแล้วก็ตาม แต่เนื้อในโครงการดังกล่าวยังมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ที่สามารถดึงออกมาใช้งานเป็นโครงการให้เกิดรูปธรรม
ซึ่งจะน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งเพราะสิ่งที่จะได้คือ ประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
เกษตรกรในระยะยาว.
อ้างอิง
ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โพสต์ทูเดย์
กระทรวงการต่างประเทศ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร