วันเยาวชนแห่งชาติ เยาวชนกับการพัฒนาประเทศ
วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี
พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล
ดังนั้น เมื่อวันที่ 18
มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่
20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ
เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ได้ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะทรงพระเยาว์
เยาวชน (Youth)
ตามความหมายของสหประชาชาติ หมายถึงบุคคลที่มีอายุในช่วง 15-25
ปี ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนเรียกว่าเป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ”
ของชีวิต และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เยาวชน
คืออนาคตและกำลังหลักของชาติ ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไป
การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลาเหล่านี้
ในโลกตะวันตก การศึกษาถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอันดับต้นๆ
หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้านการศึกษาเป็นอันดับแรก อย่างเช่นในประเทศฟินแลนด์หรือเยอรมันนี
พลเมืองของพวกเขาได้รับการศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
มีการเรียนการสอนที่เน้นการทำความเข้าใจเนื้อหา ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ
และมีการลดเวลาเรียนและลดการสอบลงเพื่อไม่ให้เด็กเกิดความเครียดจนเกินไป
***************************************************************************************************
ตัวอย่างแนวคิดการจัดการศึกษาและสวัสดิการด้านการศึกษาจากบางประเทศ
ประเทศฟินแลนด์
ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่สำคัญคือเป็นมิตรกับนักเรียนอย่างมากด้วย การศึกษาของประเทศฟินแลนด์นั้นฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย และที่น่าสนใจอย่างมากคือแนวคิดทางการศึกษาของฟินแลนด์คือความ “น้อยได้มาก”
น้อยได้มาก
ฟินแลนด์เชื่อว่าการที่จะพัฒนาศักยภาพของเด็กได้นั้น ต้องให้พวกเขามีเวลาคิด มีเวลาเล่นอย่างเต็มที่ เวลาเรียนของพวกเขาเริ่มต้นในเวลา 9:00 – 9:45 และเลิกเรียนเวลา 2:00 – 2:45 ฟินแลนด์มีแนวคิดว่าช่วงวัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และทุกๆคนควรจะมีโอกาสได้เป็น “เด็ก” อย่างเต็มที่ คือได้เล่น ได้สำรวจ ได้ทำในสิ่งที่อย่างทำอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ตนเองและสังคมอย่างเต็มที่แล้วยังทำให้ครูผู้สอนได้มีเวลาพักผ่อนและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพื่อสอนเด็กในวันถัดไปด้วย
การบ้านและการสอบที่แสนสบาย
เมื่อเด็กๆเรียนเสร็จแล้ว เขาก็ต้องทำกลับไปทำการบ้าน นี่คือแนวคิดค่านิยมแบบตะวันออก ที่ต้องฝึกฝนเด็กให้ได้ความรู้มากที่สุด จนบางครั้งทำให้เด็กเครียด แต่ประเทศฟินแลนด์ไม่มีการบ้านให้เด็กๆ หรือถ้ามีก็มีน้อยมากๆ เช่นให้ไปสังเกตุ สำรวจ อะไรบางอย่างมา เพื่อทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด และการบ้านก็มักจะไม่ได้มีคะแนนเก็บที่เคร่งเครียดอะไร ฟินแลนด์รวมถึงหลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่มีการสอบวัดระดับ เนื่องจากโรงเรียนมีมาตรฐานที่เท่ากันทุกโรงเรียน และมหาวิทยาลัยก็มีสวัสดิการให้นักเรียนทุกคนเรียนฟรีอยู่แล้ว และการสอบในโรงเรียน ก็จะทำเมื่อเด็กพร้อม คือให้เด็กเลือกเองว่าพร้อมจะสอบเมื่อไร
นโยบายด้านการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ยืนอยู่บนหลักการพื้นฐานว่าพลเมืองทุกคนต้องได้รับการเข้าถึงด้านการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน พลเมืองของฟินแลนด์จึงได้เรียนฟรีตั้งแต่ประถม จนถึงมหาวิทยาลัย หลักการของพวกเขาในการจัดการสวัสดิการการศึกษาคือ “คุณภาพ”, “ประสิทธิภาพ”, “เสมอภาค” และ “เป็นสากล”
ประเทศเยอรมันนี
ตอนที่แล้วเราได้พูดถึงการจัดการศึกษาของฟินแลนด์แล้ว ครั้งนี้จะพูดถึงประเทศเยอรมันนีกันบ้าง ประเทศเยอรมันนีถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป และเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีต่างๆมากมาย ที่ทำได้เช่นนี้ก็เพราะเยอรมันนีเป็นประเทศที่มีการจัดระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยมไม่แพ้กับประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น
เช่นเดียวกับฟินแลนด์ เยอรมันนีคาดหวังให้เด็กๆมีความคิดที่สร้างสรรค์นอกเหนือจากในห้องเรียน โรงเรียนในประเทศเยอรมันนีเข้าเวลา 7:30 – 8:15 และเลิกประมาณเที่ยงเท่านั้น ในชั้นประถมอาจเลิกก่อนเที่ยงด้วยซ้ำ หากมีคาบเรียนหลังเที่ยง ก็จะเป็นคาบเรียนว่าง ให้เด็กได้ทำกิจกรรมในสิ่งที่ตนเองสนใจ และคาบวิชานึงก็ใช้เวลาเรียนเพียงแค่คาบละ 45 นาทีเท่านั้น
เข้าใจไม่ใช่ท่องจำ
การสอบในโรงเรียนเยอรมัน ไม่ใช่การสอบแบบกาเลือกข้อเหมือนของประเทศไทย แต่เป็นการสอบข้อเขียน นักเรียนชาวเยอรมันต้องเข้าใจเนื้อหา ไม่ใช่แค่ท่องจำเท่านั้น และการสอบเพื่อผ่านระดับมัธยมต้องสอบปากเปล่าด้วย เพราะฉะนั้นนักเรียนทุกคนต้องเข้าใจเนื้อหาที่เรียนและสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ด้วย
มหาวิทยาลัยก็ฟรี
ประเทศเยอรมันนีเป็นประเทศแรกๆของโลกที่ให้สิทธิเรียนฟรีแก่พลเมืองทุกคนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยม และเมื่อไม่นานมานี้ เยอรมันนีก็เพิ่งประกาศว่ามหาวิทยาลัยของพวกเขาก็จะให้สิทธิเรียนฟรีเช่นเดียวกัน และไม่ใช่เพียงแค่พลเมืองของพวกเขาแต่เป็นกับนักศึกษาทั่วโลกเลย นี่จึงทำให้นักศึกษาจากทั่วโลกหลั่งไหลมาเรียนที่ประเทศเยอรมันนีแทนที่จะไปเรียนที่ประเทศอังกฤษที่ค่าเรียนแสนแพง
กล้าที่จะสอนประวัติศาสตร์บาดแผล
สิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งสำหรับประเทศเยอรมันนีก็คือ พวกเขากล้าที่จะสอนประวัติศาสตร์บาดแผลของตัวเองโดยไม่ปกปิด อย่างเช่นประวัติศาสตร์สงครามโลกที่พวกเขาเป็นผู้แพ้สงคราม และการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติของนาซีเยอรมัน พวกเขาสอนเด็กๆถึงความเลวร้ายของสงคราม และความโหดร้ายของอดีตผู้นำประเทศตัวเอง เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่เด็กรุ่นหลังถึงความผิดพลาดที่พวกเขาก่อขึ้นและเป็นบาดแผลที่จะคงอยู่ในประวัติศาสตร์เยอรมันตลอดไป
ประเทศเยอรมันนีเป็นประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองมากเพราะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มั่นคงเป็นอันดับต้นๆของโลก การจัดการศึกษาของพวกเขาสอดคล้องไปกับสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ เช่นสวัสดิการด้านแรงงาน และสวัสดิการผู้สูงอายุ แม้ในระดับมหาวิทยาลัยจะเพิ่งเปิดให้เรียนฟรีแต่ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันและหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนนโยบายในปี 2020 เนื่องจากจำนวนนักศึกษาจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามาและค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลอาจจะยังไม่พร้อมรับมือ
***************************************************************************************************
ในการบรรยายของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยผู้วางรากฐานเศรษฐกิจไทยยุคใหม่
เรื่องการศึกษา (2508) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เป็นแค่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น
แต่ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งพ่อแม่ นักเรียน ครู ภาคธุรกิจ บริษัทห้างร้าน
สถาบันการศึกษา ต้องมีเจตจำนงร่วมอันแน่วแน่กันทุกฝ่ายในการร่วมพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาให้มีพลังความสามารถในการเติมเต็มศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเต็มที่เมื่อนักเรียนมีคุณภาพ
สังคมเศรษฐกิจก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย
ในประชาคมที่วิเศษยอดเยี่ยม เป็นอุดมคติ
การอำนวยการศึกษาจึงควรจะกระทำให้ทั่วถึงกัน คือควรจะให้นักเรียนแต่ละคนสามารถรับการฝึกฝนอบรมดังกล่าวข้างตนจนสุดความสามารถ
คำว่า “สุดความสามารถ” ในที่นี้ ควรที่จะเป็นความสามารถที่มิใช่ความสามารถทางการเงินของแต่ละคน
ผู้ที่เรียนได้เก่งแต่ยากจนก็ควรได้รับการค้ำจุนทางการเงิน
ผู้ที่เรียนเก่งมีสติปัญญาหลักแหลมแต่อยู่ในท้องถิ่นชนบทกันดาร
ก็ควรจะได้โอกาสให้ได้รับการศึกษาสูงที่สุดไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้ที่อยู่ในพระนคร
เปรียบเสมือนเพชรที่อยู่ในตม ต้องงมขึ้นมาให้มีค่าให้ได้”
เยาวชนจึงเปรียบเสมือนหน่ออ่อนของต้นไม้ที่กำลังเติบใหญ่
หากอยากเห็นความเจริญงอกงามในสังคม การศึกษาสำหรับเยาวชน
นั้นก็เปรียบเสมือนเหมือนปุ๋ยและน้ำ หากได้ปุ๋ยและน้ำที่ดีสังคมก็จะเจริญงอกงามในทางที่ดีและแข็งแรงได้ในอนาคต ดังคำกล่าวของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ที่ว่า “การสร้างอนาคตของประเทศนั้น ต้องสร้างที่เยาวชน”