เตรียมพลิกจากตั้งรับเป็นรุกได้แล้ว อย่าปล่อยให้โอกาสที่มาพร้อมวิกฤติหลุดไป : นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช
วิกฤติการระบาดของโรค COVID-19 ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความหวั่นวิตกการติดโรคระบาดติดต่อง่าย และมีภัยถึงชีวิตเท่านั้น แต่ทำให้เศรษฐกิจโลกสะดุดหยุดชะงักไปด้วยทั้งโลก สังคมต้องปรับตัว เกิด SOCIAL DISRUPTION มีกติกาใหม่ เรียกว่า NEW NORMAL เกิดขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งของวิกฤติ ก็สร้างโอกาสใหม่ไปด้วย ถ้าผู้ใด ประเทศใด นำพาได้ดี ก็จะได้รับประโยชน์จากวิกฤตินี้ชดเชยความเสียหายได้บ้าง
รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมา ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันนี้ กว่า 6 อาทิตย์ แล้ว ทั้งยังมีพระราชกำหนดกู้เงิน ไว้ 1.9 ล้านล้านบาท เป็นกรอบไม่มีรายละเอียด ซึ่งน่าจะใช้เพื่อเหตุผลหลัก 4 ประการ 1) เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อควบคุม ป้องกัน และเตรียมพร้อมรักษาโรคโควิด-19 2) เยียวยาผ่อนปรนทุกข์ของประชาชนที่จำเป็น 3) ฟื้นฟู พยุงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ 4) เตรียมพร้อมปรับตัวเพื่ออนาคต
ที่ผ่านมา ระยะ 1 เดือนแรก รัฐบาลยังดำเนินการ แก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรค ซึ่งประสบผลดีมาจนน่าจะพ้นวิกฤติ ควบคุมโรคได้มาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว รัฐบาลควรปรับพลิกบทบาทใหม่เป็นการกอบกู้เศรษฐกิจได้แล้ว
ขออนุญาตคิดดังๆ เพียงบางประเด็น แม้ไม่ครอบคลุม ดังนี้
1. “โอกาสจากการที่ไทยควบคุมการติดโรคระยะแรก ‘ได้ดีเยี่ยม’” ผ่านวิกฤติการติดต่อแพร่โรคไปได้ดี ต้องขอขอบคุณทีมงานแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข และระบบบริการสาธารณสุขที่มีรากหยั่งถึงหมู่บ้านของไทย ที่เป็นแนวหน้าของสงครามสู้ COVID-19 ในรอบนี้ และที่สำคัญความร่วมไม้ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเข้มงวดร่วมกันต้องควบคุมโรคของประชาชนชาวไทย นี่เป็น “จุดแข็ง” ที่จะสร้างเป็นโอกาสที่ไม่อาจมองข้ามได้
2. “ไทยได้รับ Social Vaccination แล้ว” พฤติกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้หลีกเลี่ยงสัมผัสพาหะแพร่โรค เช่น การสวมหน้ากาก , physical distancing , Work from home , และมาตรการต่างๆ ที่หน่วยงานและประชาชน ริเริ่ม และเริ่มเคยชิน กลายเป็น New Normal ที่แท้คือ “Social Vaccination” ไปแล้ว ไม่ต้องรอให้ฉีด Vaccine ที่ยังผลิตไม่ได้ในเร็ววัน แต่พฤติกรรมเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการป้องกันโรค ที่หลายประเทศที่ยังระบาดอยู่ไม่สามารถดำเนินการได้ผลเช่นไทย นี่เป็น ‘จุดแข็ง’ ที่สร้างโอกาสอีกได้เช่นกัน
3. “lock down ต้องเพื่อการเปิดประเทศใหม่อย่างปลอดภัย” การ lock down ประเทศเป็นไปเพื่อการจำกัดบริเวณ เขตการติดเชื้อให้ชัดเจน ไม่รับเชื้อใหม่นอกเขต ตรวจค้นผู้ติดเชื้อ กักเพื่อดูอาการ , จำกัดการแพร่เชื้อ และรักษารายที่จำเป็น เนื่องจากโรคมีระยะฟักตัว 14 วัน การ lock down จึงดำเนินการใน 21-30 วัน เพื่อปรับมาตรการต่างๆ รองรับการแพร่ระบาด และเตรียมตัว เพื่อการเปิดสังคมใหม่อย่างปลอดภัย แน่นอนว่าโรคนี้ยังจะดำรงอยู่กับเราเป็นปีๆ กว่าจะมี Vaccine และการให้ vaccine ป้องกันการระบาดจะทั่วถึง แต่การดำรงชีวิต หรือเศรษฐกิจต้องดำเนินต่อไป การเปิดสังคมกลับคืนด้วยมาตรการสร้างความปลอดภัยทีละขั้นอย่างไม่ชักช้า ต้องรีบดำเนินการ ก่อนที่คนไทยต้องทุกข์ยากถึงอดตายกันมากกว่านี้ เพราะจากตัวเลขการวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ทรัพย์สินของคนไทย 33.9% พอดำรงชีวิตไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น
4. “เร่งคืนวิถีชีวิตใหม่ปลอดภัยโรค คลาย lock down” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ และสังคมรุนแรงด้วยความยากจนทับถมโรค โดยเร่งเตรียมการเริ่มจากเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการดำรงชีพ อาหารการกิน การเดินทางปลอดภัย เส้นทางปลอดภัยภายในเขตที่ตรวจไม่พบเชื้อ กว่า 28 วันแล้ว ดังพื้นที่สีเขียวและสีเทาเกือบทั่วประเทศในภาพขวา เตรียมเปิดเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศด้วยมาตรการปลอดภัยโดยเร็วเมื่อพร้อม
5. “เยียวยา ให้ทัน เพื่อรอฟื้นใหม่” ระหว่าง lock down การเยียวยา ด้านเศรษฐกิจและรายได้ ต้องเร็วและทั่วถึง ไม่คิดเหมือน “รัฐแจกทาน” ต้องให้มาร้องขอ คัดเลือก กลั่นกรอง ไม่เสร็จสักที ทั้งที่ข้อมูลอยู่กับภาครัฐ ลงทะเบียนไม่รู้กี่ครั้งแล้ว รัฐมีฐานข้อมูล ทะเบียนคนจน ผู้มีสิทธิประกันสังคม ผู้เสียภาษี ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ฯลฯ แต่ให้กรอกใหม่ด้วยระบบที่คนเดือดร้อนจริงไม่คุ้นเคย จึงเป็นรัฐบาลที่แจกเงินแล้วโดนด่า ไม่ต้องพูดซ้ำเรื่องความเดือดร้อนที่ต้องร้องเรียนรายวันที่กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน ที่อ้างว่า จ่ายช้าเพราะ คอมฯเก่า แต่เก็บเงินเข้าเร็ว ล่าสุดให้เกษตรกรลงทะเบียน online อีกแล้ว ทั้งที่ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมีอยู่แล้ว เพราะเก็บบ่อย จ่ายบ่อย ทั้งข้อมูล ธกส. การจ่ายเงินภัยแล้งน้ำท่วม ส่งเสริมเกษตร แล้วทำไมต้องให้เขากรอก online ให้ยุ่งยากอีก
6. “เสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ domestic economy” เมื่อต้อง lock down ติดต่อต่างประเทศลำบาก โครงสร้างประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกและท่องเที่ยวติดปัญหาชั่วคราว เศรษฐกิจภายในประเทศมีความสำคัญยิ่ง ถือโอกาสสร้างความสำคัญของเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น
6.1 การส่งเสริมสินค้าระหว่างเขต เหมือนสมัยส่งเสริม OTOP เอาของดีจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัด
6.2 การจ้างงานของรัฐ เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การจัดจ้างงาน สร้างแหล่งน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งในตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่มีแผนที่หน่วยราชการทำไว้ทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมา อ้างว่าไม่มีงบฯ หรือการปลูกป่า โดยใช้ทรัพย์สินจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่มีไม้กว่า 200,000 ไร่เป็นหลักประกันกู้เงิน จัดจ้างประชาชนไปปลูกป่าเพิ่มเติม
7. “ลงทุนเพื่ออนาคต” เร่งรัดปรับการทำงานของรัฐ ผ่านระบบไร้สัมผัสและ online ทำงานให้เร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง มาที่หน่วยราชการ รอคิว กรอกแบบฟอร์ม รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แล้วมารอฟังผลในสัปดาห์ถัดไป ฐานข้อมูลบุคคลเชื่อมโยงกัน ไม่ต้องกรอกแล้ว กรอกอีกเหมือนโครงการเยียวยาต่างๆ ขณะนี้ หรือปรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตด้านอาหารปลอดภัยและสุขภาพปลอดภัย ซึ่งเป็นความต้องการถาวร ที่เรามีศักยภาพอยู่ เช่นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรแบบอัจฉริยะ (จริงๆ) การส่งเสริมการวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข จนเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และที่สำคัญอาศัยจุดแข็ง ของการควบคุมโรคได้ดี จัดระเบียบสังคมไทยใหม่ มุ่งเป็นประเทศ COVID SAFE, ประเทศน่าเที่ยว น่าอยู่เป็นประเทศแรกๆ แถมยังผลิตอาหารสะอาด ปลอดภัย ที่จะได้นำเสนอต่อๆ ไป
หมายเหตุ – นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี , อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความเมื่อ 9 พฤษภาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Prommin Lertsuridej