พงศ์เทพ เทพกาญจนา : รัฐธรรมนูญปี 2560 คือฉบับอภิมหาโกง เขาเขียนมาเพื่อให้ฉีกหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ!
“สำหรับผมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถ้าจะขนานนามให้ถูกต้อง คือรัฐธรรมนูญฉบับอภิมหาโกง” นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย กล่าวเปิดหัวการเสวนาในเวทีวิชาการระดมความเห็นในหัวข้อ “ส.ส.ร. แบบไหน…ที่คนไทยต้องการ” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเผ็ดร้อนทันทีเมื่อถูกถามคำถามแรกว่ามองรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้อย่างไร นายพงศ์เทพกล่าวอธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร พยายามขนานนามให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงบ้าง หรือพยายามบอกใครต่อใครว่าคนที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือพวกมีความคิดจะโกงบ้าง แต่นายพงศ์เทพเองกลับมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือรัฐธรรมนูญฉบับอภิมหาโกง เพราะ “มีการโกงอำนาจของประชาชนไปยกร่าง ตอนทำประชามติ เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นประชามติแบบโกงๆ ให้ข้อมูลฝ่ายเดียว ปิดปากฝ่ายตรงข้าม คนที่มาพูดนั้น พูดแบบไม่มีสำนึกของความยุติธรรมเลย”
เมื่อมองถึงกลไกการทำงานของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว หลายคนตั้งคำถามว่าถ้าจะคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่แก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ทำไมต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ นายพงศ์เทพมองว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางกลไกการสืบทอดอำนาจ มีเงื่อนไขกลไกโกงประชาชนตลอดทุกขั้นตอน แต่กลับบอกประชาชนว่าตัวเองเข้ามาด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่ประหลาด ประหลาดอย่างไร นายพงศ์เทพยกตัวอย่างชัดเจนว่า กรณี ส.ว. 250 คน ซึ่งไม่ได้มาจากประชาชน มาเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากระบบ ส.ว. จะมีอำนาจยกมือเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว นอกจากนี้ที่ประหลาดมากกว่านั้นคือ มาตรา 279 แม้ว่าสถานะของ คสช. จะสิ้นสุดเพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับกลายเป็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กลับไปรับรองการใช้อำนาจของ คสช. ที่ผ่านมาไว้อยู่ ทำให้การตรวจสอบอำนาจ การลบล้างผลพวงการใช้อำนาจ รวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบเหล่านั้นไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้มันไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
เมื่อเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของการระดมความคิดยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ก็มีคำถามว่า ทำไมต้องยกร่างใหม่ ถ้าเห็นปัญหามาตราไหนทำไมไม่แก้มาตรานั้นโดยเฉพาะ นายพงศ์เทพกล่าวตอบว่า “ผมบอกแต่แรกแล้วว่า รัฐธรรมนูญเขียนมาเพื่อไม่ให้แก้ไข เพราะเขาผูกกลไกไว้ให้แก้ไขยาก แต่เขาเขียนมาเพื่อให้ฉีกหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ” และจากกระแสกดดันของภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ จึงทำให้ก่อนหน้านี้ที่ไม่เห็นเค้าลางที่จะสามารถพูดคุยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มเห็นหนทางมากขึ้นว่าสังคมต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งนายพงศ์เทพยอมรับว่าก่อนหน้านั้นก็ยังไม่เห็นเค้าลางมาก่อนแต่เมื่อมีความเคลื่อนไหวภาคประชาชนสังคม จึงเริ่มมีความพยายามกันในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ต้องขอบคุณประชาชน นินิสิต นักศึกษา ที่เขาช่วยทำให้สิ่งที่เราเองไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ให้เป็นไปได้”
ท้ายสุด นายพงศ์เทพ มองกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ในการทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ว่าควรจะสั้นที่สุด โดยยกตัวอย่างว่าในอดีตเมื่อคราว ส.ส.ร. ปี 2540 ใช้เวลายกร่าง 240 วัน ถัดมาปี 2550 ซึ่งมีกรอบของรัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่แล้วจึงใช้เวลายกร่างแค่ 180 วัน คิดว่าปัจจุบัน ส.ส.ร. ชุดใหม่ ควรใช้เวลาแค่ 120 วันในการยกร่างให้เสร็จ โดยการยกร่างครั้งนี้จะมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อนำเสนอความเห็น รวบรวมประเด็นสำคัญต่างๆ เมื่อมี ส.ส.ร. เข้ามาแล้วก็สามารถนำความเห็นไปพิจารณาได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปรวบรวมความเห็น
“ดังนั้นผมคิดว่า พวกเราทั้งประชาชน นิสิต นักศึกษา ต้องติดตามการทำงานของ ส.ส.ร. อย่างใกล้ชิด ต้องมาร่วมกันในการทำงานของ ส.ส.ร. เพราะเวลาจำกัด ถ้าช่วยกันแนะนำรวบรวมความเห็นรวบรวมประเด็นไว้ให้ เพราะหากไม่ร่วมกันจริงๆ ก็ยากที่ ส.ส.ร. จะทำงานนี้ได้สำเร็จลุล่วง”
เนื้อหาสรุปจากงานเสวนาเวทีวิชาการระดมความเห็นในหัวข้อ “ส.ส.ร. แบบไหน…ที่คนไทยต้องการ” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์