วงเสวนา “ปลูกโอกาสสร้างเมือง Startup : Bangkok Startup City” เห็นร่วมกัน ภาครัฐ ต้องเปิดโอกาส-ลดอุปสรรค เพื่อผลักดัน สตาร์ทอัพ ให้ยืนอยู่ได้
31 สิงหาคม 2563 พรรคเพื่อไทย ร่วมกับสถาบันสร้างไทย จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ปลูกโอกาสสร้างเมือง Startup : Bangkok Startup City” โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค กล่าวเปิดงานว่า ขณะนี้เรากำลังพยายามทำ Ecosystem เพื่อให้สตาร์ทอัพเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์การจัดเสวนาครั้งนี้ เพื่อเตรียมไปคุยกับทางรัฐบาลในเรื่องการขอปรับใช้วงเงิน 5 แสนล้านบาท ของวงเงินกู้ซอฟท์โลน เพราะผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพเข้าถึงได้น้อยมาก จริงๆแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน ควรจะได้ใช้เงินก้อนนี้ที่สุด แต่ปรากฏว่าเป็น SMEs รายใหญ่ที่ได้ไป ทั้งนี้ ได้มีการศึกษากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเตรียมแก้ไขกฎหมาย จำนวน 2,000-3,000 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้เราทำไปแล้วกว่า 300 ฉบับ และในอีกไม่กี่วันเราจะมีการจัดเสวนาขึ้นอีกครั้ง เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายกับระเบียบต่างๆ
นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult Startup ที่เป็น AgriTech กล่าวว่า ตอนนี้ในวงการสตารท์อัพกำลังแย่ เงินลงทุนในบริษัทแทบจะหมด การที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะมีซอฟท์โลนมาสนับสนุนสตาร์ทอัพ แต่เมื่อไปขอจริงๆ กลับไม่ได้ เข้าไม่ถึง จึงต้องรวมตัวกัน เพื่อหาทางรอด โอกาสของสตาร์ทอัพในประเทศไทย ที่น่าจะสามารถเติบโตได้ในอนาคต มีอยู่ 3 ด้าน คือ 1. ด้านเกษตร เมืองไทยสามารถเป็นครัวโลกได้ 2. ด้านสาธารณสุข (Healthcare) และ 3. ด้านท่องเที่ยว แต่อุปสรรคสำคัญของเกษตรกรคือปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลควรมีนโยบายด้านชลประทาน เพื่อให้เข้าถึงเกษตรกรต่างจังหวัด
นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่สตาร์ทอัพเจอ คืองบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง สตาร์ทอัพพยายามอยากจะทำงานกับภาครัฐ แต่สู้ราคากับบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ได้ และเงื่อนไขต่างๆ ก็ไม่ได้สนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพที่เกิดใหม่ ซึ่งรัฐควรจะต้องลดหย่อนอะไรบางอย่าง เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตไปได้ เพราะจริงๆ แล้ว สตาร์ทอัพอาจจะดูแลลูกค้าได้ดีกว่าบริษัทใหญ่หลายบริษัท แต่ติดที่กฎ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของสตาร์ทอัพ
นางสาวช่อขวัญ คิตตี้ ช่อผกา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเลเวทเต็ด เอสเตท จำกัด กล่าวว่า สตาร์ทอัพใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น พอมาเจอโควิด-19 ก็ไม่ได้เกิด อย่างกรณี อุตสาหกรรมกัญชากัญชง สตาร์ทอัพไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ข้อมูลความรู้ที่หามาได้จากภาครัฐก็ไม่ได้ตรงกับข้อมูลความเป็นจริง และมีเพียง 3-4 ราย ที่เป็นสตาร์ทอัพ ที่เหลือมีแต่ระดับบิ๊กๆ คือ ประเภทที่ผลิตยา หรือวิสาหกิจชุมชนที่เป็น SMEs ระดับใหญ่ และแม้อุตสาหกรรมกัญชาจะมีเงินเยอะ แต่กว่า 65% ของจำนวนเงินเป็นเรื่องการควบคุม การแปรรูป หรือเทคโนโลยีอะไรต่างๆ แต่ทุกคนยังมองว่า การปลูกเป็นกำไรที่จะสามารถช่วยเราให้รอดพ้นจากความจนได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง
นายอมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba Coworking Space และ Co-Founder, Techsauce Media กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการทำสตาร์ทอัพในเมืองไทย พบปัญหามากมาย รวมไปถึงเรื่องของการขยายกิจการ การระดมทุน และที่สำคัญธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพทั่วไป ถ้าหากไม่มีรายได้เข้ามา โดยเฉลี่ย 75% ที่มีเงิน จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน และอีก 25% ที่ไม่มีเงิน จะอยู่ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เช่น ร้านอาหาร ซึ่งผู้ใหญ่หลายคนไม่เข้าใจอาจมองว่าการลงทุนคือความเสี่ยง ที่อาจจะออกดอกผลใน อีก10-20 ปีข้างหน้า แต่ถ้าไม่เริ่มทำวันนี้มันก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่การจะทำให้เศรษฐกิจเมืองไทยกลับคืนมา รัฐควรจะต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนกิจการทุกรูปแบบ
นางสาวชาริณี กัลยาณมิตร Partner, Gobi Partners กล่าวว่า ในการที่จะลงทุน จำเป็นต้องมีความรู้ มี Community มีเครือข่าย เพื่อจะทำอย่างไรให้ธุรกิจต่างๆ เติบโตต่อไปได้ ซึ่งจำเป็นต้องมี Partner แต่ความจริงในวันนี้ ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน ไม่มีใครทำงานเป็นทีมเดียวกัน สิ่งที่เรากำลังพยายามทำในวันนี้ คือจะทำอย่างไรให้เราทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบทวีคูณได้ โดยในต่างประเทศ ภาครัฐจะถามความเห็นหรือรับฟังผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งโครงสร้างโมเดลประเทศต่างๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย จะทำแคมเปญ Matching Fund เพื่อสนับสนุนการลงทุน ไม่เช่นนั้น สตาร์ทอัพจะไปไม่รอด