จักรพงษ์ แสงมณี : โอกาสในวิกฤติ หรือ วิกฤติในวิกฤติ
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว รัฐบาลนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออก พ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อพยุงเศรษฐกิจจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครคัดค้านการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้เลย ทั้งๆ ที่เป็นการออก พ.ร.ก. จำนวนเงินสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะทุกฝ่ายเข้าใจถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวมาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อย่างที่หวัง ดังจะได้เห็นจากตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 2 ออกมาอยู่ที่ติดลบ 12.2% ครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงอยู่ที่ลบ 6.9% และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 7.8 ถึง ลบ7.3% จะทำให้จีดีพีปี 2563 อยู่ที่ลดลงมาอยู่ที่ 15.3 ล้านล้านบาท
“จีดีพีร่วง หนี้สาธารณะสูง กู้ชนเพดาน”
ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยในขณะนี้อยู่ที่ 7.4 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 44.76% ของจีดีพี (ข้อมูลเดือนมิถุนายน 63) คำนวณขณะที่จีดีพีไทยอยู่ที่ 16.6 ล้านล้านบาทนับได้ว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยไม่ได้สูงมากนัก แต่จากการที่สภาพัฒน์ฯได้คาดการณ์จีดีพีของประเทศไทยปรับตัวลดลงที่ 7.5% จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่กระทรวงการคลังจะกู้ตาม พ.ร.ก. ที่ออกไว้จำนวน 1 ล้านล้านบาท (กู้แล้วประมาณ 2 แสนล้านบาท เหลือ 8 แสนล้านบาท) และกู้ชดเชยการเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้จำนวน 214,093 ล้านบาท เมื่อรวมในส่วนนี้แล้วจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 8.4 ล้านล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 54.72% จะเห็นได้ว่าประเทศไทยจะเหลือวงเงินกู้อีกประมาณ 5.28% หรือประมาณ 800,000 ล้านบาท และในขณะเดียวกันได้มีการพิจารณางบประมาณปี 2564 ที่จะมีการกู้ขาดดุลอีก 623,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าประเทศไทยแทบจะไม่เหลือวงเงินเพื่อมาพยุงหรือเศรษฐกิจ
“กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เห็นผล แต่ยังวางแผนกู้เพิ่ม”
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเวลานี้คือ รัฐบาลไม่มีแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใดมานับเดือน มีแต่นโยบายแจกเงิน หรือนโยบาย Soft Loan เพื่อต่อลมหายใจให้ธุรกิจ SMEs ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพยุงจีดีพีได้เลย ขณะที่รัฐบาลมีแผนกู้เงินอีกหลายล้านล้านบาท นั่นหมายถึงเพดานหนี้สาธารณะจะทะลุ 60% ของจีดีพีอย่างแน่นอน การขยายเพดานหนี้สาธารณะมากกว่า 60% ของจีดีพีสามารถกระทำได้ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่โจทย์ที่สำคัญที่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลตอบคือ 1. จะขยายเพดานขึ้นไปเท่าไหร่ 2. เงินที่กู้ไปได้มีแผนงานและมาตรการอย่างไรบ้าง ตรงกลุ่มเป้าหมายมากน้อยเพียงใด 3. เพดานหนี้สาธารณะนี้จะขยายเพดานนานเท่าไหร่ แล้วจะกลับมาที่ 60% หรือไม่ในอนาคต
อีกปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือกระทรวงการคลังก็ประสบปัญหาการจัดเก็บรายได้ 8 เดือนแรกของงบประมาณปี 2563 รายได้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 2 แสนล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 300,000 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลนายกฯประยุทธ์ในปีนี้ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้สูงถึง 6.23 แสนล้านบาท หรือ 18.9% ของงบประมาณโดยในปีงบประมาณ 2564 ที่จะถึงนี้มีการก่อหนี้ใหม่จำนวน 1,208,085.9 ล้านบาท
1) เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 623,000 ล้านบาท
2) เงินกู้ตามโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 400,000 ล้านบาท
3) เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง 99,000 ล้านบาท
4) เงินกู้เพื่อให้กู้ต่อ 86,085.9 ล้านบาท
นอกจากนี้ภายในงบประมาณยังมี ภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีในปีงบประมาณ 2564 โดยมีรายการใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจำนวน 255,373.3 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาระผูกพันงบประมาณในปีงบประมาณที่ผ่านมาก่อนปี 2564 จำนวน 981,019.8 ล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2564 มีภาระผูกพันงบประมาณรวมทั้งหมด 1,236,393.1 ล้านบาท
“เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับสนิท กู้อีกกี่ล้านล้านก็ไม่พอ”
จะเห็นได้ว่างบประมาณมีสัดส่วนที่ต้องจ่ายหนี้ที่ผูกพันงบประมาณจำนวนมาก ประกอบกับในปี 2564 แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและของโลกยังไม่ชัดเจนจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกก็ได้รับกระทบจากสงครามการค้ามาตั้งแต่ปี 2562 มาตลอด นั่นคือเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีทั้งหยุดลงและขยับได้แย่ลงมาพร้อมๆกัน ย่อมส่งผลต่อกำลังการซื้อ ความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนของเอกชนลดลง นั่นทำให้การเก็บภาษีการบริโภคจากการท่องเที่ยวการผลิตสินค้า การขายสินค้า ลดลงในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และกำไรของธุรกิจในปี 2563 จนถึงปี 2564 คงเป็นไปได้ยากที่จะมีกำไรเท่าเดิม และด้วยจำนวนกิจการที่ปิดตัวลงไปจำนวนมากภาษีเงินได้นิติบุคคลจะจัดเก็บได้ลดลงอย่างมาก ถ้าวิกฤตินี้ยังดำเนินอยู่พร้อมกับการที่รัฐบาลยังยืนยันที่จะทำนโยบายการเงินการคลังแบบนี้อยู่ ไม่ว่าจะกู้เงินอีกกี่ล้านล้านบาทก็ไม่สามารถช่วยเศรษฐกิจไทยได้
“ในวิกฤติยังมีโอกาส แต่รัฐบาลมองเห็นหรือไม่”
ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดการการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ในหลายประเทศมองเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเพื่อสร้างแท่นกระโดดใหม่ให้กับประเทศ เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีครั้งใหม่ หลายประเทศเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อินเดียอัดฉีดเงินกว่า 1.47 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เกาหลีใต้อัดฉีดเงินกว่า 9.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลควรจะต้องตีโจทย์ให้ดีกว่าประเทศไทยจะเดินไปในทางไหน
“ควรต่อลมหายใจเศรษฐกิจประเทศก่อนซื้ออาวุธ”
ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะ และการจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เป็นตัวชี้วัดที่มากพอแล้วที่จะหยุดหรือชะลอ โครงการเรือดำน้ำมูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท รัฐบาลอาจจะคิดว่ามูลค่าเรือดำน้ำไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งประเทศหรืองบกระทรวงกลาโหม แต่สำหรับประชาชน บริษัทขนาดกลางและเล็ก ถือว่าเป็นเงินมหาศาลในภาวะที่ประเทศกำลังต้องการดึงงบประมาณทุกภาคส่วน เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจและธุรกิจของคนจำนวนมากให้มีลมหายใจออกไปก่อน ภาวะเช่นนี้ประเทศไทยไม่ควรใช้จ่ายเงินไปกับการนำเข้ายุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นจากต่างชาติ รัฐบาลนี้รู้หรือเปล่าว่าเงินจำนวนนี้สามารถนำไปช่วยประชาชนได้หลายล้านคนในช่วงวิกฤตินี้ได้ วันนี้ท่านมีเรือดำน้ำแล้ว 1 ลำ ส่วนลำที่ 2 และลำที่ 3 รัฐบาลสามารถรอได้ ผมมั่นใจว่าประเทศเพื่อนบ้านก็เกรงใจเราแล้ว อยากเรียกร้องให้ชะลอการสั่งซื้อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเป็นปกติ และที่สำคัญคือประชาชนมีฐานะที่ดีก่อนค่อยซื้อก็ไม่สาย
“ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ถ้าผู้นำมีวิสัยทัศน์และความกล้าในการทำให้วิสัยทัศน์นั้นให้เกิดขึ้นจริงและมีประสิทธิภาพ จะทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านไปได้ หรืออาจจะแซงหน้าประเทศที่เราเคยตามหลังด้วยซ้ำ แต่ถ้าผู้นำไร้วิสัยทัศน์ (เอาแต่หลงอยู่กับความเชื่อเก่าๆว่าต้องซื้ออาวุธเยอะๆ) ที่สอดคล้องกับวิกฤติในขณะนี้และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นครั้งใหม่ทั่วโลก ทำให้ไทยต้องเผชิญวิกฤติ ซ้อนวิกฤติไปอีกหลายทศวรรษ”