รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ฉายภาพแผนเศรษฐกิจสู้โควิด-19 ระยะสั้น-ระยะยาว ชี้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กและภาคอุตสาหกรรม ช่วยซึมซับแรงงาน สร้างงาน สร้างรายได้
7 มิถุนายน 2563 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง มาตรการการคลังสำหรับระยะฟื้นตัวจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า มาตรการการคลังที่เหมาะสมจะต้องตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ 1. ต้องสร้างงานให้แรงงานที่ตกงานจำนวนมหาศาลในระยะสั้นได้ 2. ต้องผลักเศรษฐกิจในระยะกลางได้ และ 3. ต้องทำได้เร็ว ซึ่งคำตอบของโจทย์นี้ไม่ใช่ภาคบริการ รวมถึงท่องเที่ยว เพราะยังไม่มีอุปทานมารองรับ เนื่องจากชาวต่างชาติยังมาเที่ยวไม่ได้ และไม่ใช่ภาคเกษตรที่แม้จะรองรับคนตกงานได้มาก แต่แรงผลักต่อเศรษฐกิจมีน้อย อีกทั้งยังไม่ใช่การแจกเงิน เพื่อหวังเรื่องกำลังซื้อ แม้การแจกเงินเยียวยาเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำ แต่จะหวังให้เป็นตัวดันกำลังซื้อตลอดการฟื้นตัวคงไม่ใช่
คำตอบต่อโจทย์นี้ คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก หรือก่อสร้างขนาดเล็ก เพราะสามารถซึมซับแรงงานที่ต้องตกงานได้เยอะและทำได้เร็ว โดยไม่ต้องใช้ทักษะมาก ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสูง และมีห่วงโซ่อุปทานกว้างในประเทศกำลังพัฒนา ลงทุน 1 บาทสร้างเงินได้ถึง 4 บาท สูงกว่ามาตรการทางการคลังแบบอื่นมาก ซึ่งเป็นการดำเนินการระยะสั้น สำหรับในระยะยาวนั้นโจทย์คือ ที่ผ่านมาพูดกันเยอะว่าไทยพึ่งพิงโลกมากไป ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก และส่วนใหญ่เสนอว่าให้หันมาพึ่งกำลังซื้อในประเทศ จะได้ไม่ต้องพึ่งพิงโลก แต่กำลังซื้ออยู่ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้แต่จะต้องสร้างขึ้น ลำพังการแจกเงินจะทำให้กำลังซื้อเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นในระยะยาว จะต้องสร้างงานที่สร้างผลผลิตต่อหน่วยสูง ซึ่งไม่ใช่ภาคเกษตร หรือแม้แต่ภาคบริการรวมถึงท่องเที่ยวที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ สิ่งปลูกสร้าง
“ลองคิดภาพว่าอ้อยมีอายุเก็บเกี่ยว 10 เดือน ใช้เทคโนโลยีพัฒนาอย่างไร อีก 20 ปี อายุเก็บเกี่ยวก็อยู่ราวๆนี้ ผลผลิตต่อหน่วย พัฒนาไม่ได้มาก ซึ่งแทบจะไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ใช้ภาคบริการ และภาคเกษตร ยกระดับตัวเองจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงได้สำเร็จ แต่ภาคอุตสาหกรรมสามารถทำได้ สินค้าที่เคยผลิต 1 เดือน สามารถพัฒนาให้ผลิตได้ใน 1 วัน ซึ่งช่องว่างของการพัฒนาแตกต่างกันมหาศาล ดังนั้นถ้าเป้าหมายคือการยกระดับรายได้แบบก้าวกระโดด เพื่อสร้างงานรายได้สูงให้คนไทย เพื่อสร้างกำลังซื้อภายในประเทศให้ได้อย่างที่หวัง บทบาทภาครัฐเชิงรุกต่อภาคอุตสาหกรรมคือคำตอบ”