“พรรคเพื่อไทย” เรียกร้องรัฐบาลแสดงความจริงใจ เปิดทาง “สภาฯ” ตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน
2 มิถุนายน 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค แถลงถึงแนวทางในการตรวจสอบการใช้งบประมาณ ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
โดย คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เราเห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญและให้รายงานต่อสภาทุก 3 เดือน หากรัฐบาลมีความจริงใจต้องพิสูจน์ความจริงใจด้วยการสนับสนุนข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน เพื่อให้มีการใช้เงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้รั่วไหล ซึ่งเงินกู้ก้อนนี้เป็นเงินกู้ก้อนสุดท้ายที่จะมารีสตาร์ทประเทศไทยและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. นั้น ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการพิจารณาปรับงบประมาณปี 2563 และปี 2564 สำหรับใช้ในการแก้ไขวิกฤติประเทศก่อนแล้วค่อยกู้เงิน แต่รัฐบาลกลับทำตรงกันข้าม คือ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน ก่อนแล้วค่อยเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. ซึ่งมองได้ว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจอย่างเห็นได้ชัด เป็นการตัดงบประมาณแบบขอไปทีและตัดในจำนวนน้อยมาก โดยไม่ได้ตัดงบประมาณในส่วนของกองทัพและงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธ เพียงแต่ชะลอการจ่ายออกไปก่อน หากเป็นพรรคเพื่อไทยเราจะสามารถตัดได้เลยและจะตัดก่อนดำเนินการกู้เงินด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เราข้องใจคือรัฐบาลอ้างว่าต้องกู้เงิน เพื่อสู้กับภัยโควิด-19 แต่ได้ออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. ตัดเงินจำนวนนี้ไปกองไว้ที่งบกลาง ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจใช้เพียงคนเดียว หากรัฐบาลจริงใจทำไมไม่ตัดเงินจำนวนนี้กลับคืนไปสร้างระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง
ขณะที่ รศ.ดร.โภคิน กล่าวว่า จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับที่ผ่านมา สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ วิสัยทัศน์ของรัฐบาล ในการใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่ไม่มีความชัดเจน ขาดเป้าหมาย ตัวชี้วัดและตรวจสอบได้ยาก นอกจากนี้ยังมีกระแสการหาผลประโยชน์ต่างๆ จากงบประมาณก้อนนี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องของตัวเองในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน การกินหัวคิว การตั้งราคาเกินจริง หรือการเลี่ยงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง หากการแก้ไขปัญหาวิกฤติครั้งนี้ไม่สำเร็จ รัฐบาลชุดนี้จึงต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงก็คือ สถานการณ์ที่การเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยและระบบรัฐราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการบูรณาการระบบข้อมูล จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าการเยียวยาที่ผ่านมาจึงมั่วไปหมด ซึ่งรัฐบาลอยู่มา 4-5 ปีไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย รวมไปถึงปัญหาเรื่องกฎหมายที่ล้าหลังจำนวนมากที่เป็นภาระและอุปสรรคในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า เงินที่รัฐบาลกู้มานั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
“พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเราจะยอมให้เงินของประชาชนถูกปู้ยี้ปู้ยำอย่างนี้ไม่ได้ จึงต้องผลักดันให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้เงิน รวมทั้งกำลังเตรียมร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. นี้ เพื่อจะให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐสภาทุกสามเดือนเพื่อให้รัฐสภาตรวจสอบอีกครั้ง นอกจากนี้ก็จะขอให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยข้อมูลตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับการใช้เงิน ทุก 15 วัน” รศ.ดร.โภคิน กล่าว