คำต่อคำ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ
ขอชื่นชมและแสดงความยินดีต่อความสำเร็จต่อการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ความชื่นชมของผมนี้ ขอมอบให้กับความร่วมมือและการเสียสละของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ที่ช่วยกันปฏิบัติตามการแนะนำด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นผมขอส่งความชื่นชมของผมไปยังบุคลากรสาธารณสุขทุกท่าน ด้วยศักยภาพของหมอ พยาบาล และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งของไทย ที่เป็นทัพหน้าการเผชิญศึกโรคภัยในครั้งนี้
แต่ในความสำเร็จนั้น ก็แฝงด้วยความผิดพลาดของการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤติในหลายๆครั้งของรัฐบาล ไม่ว่าเป็น ความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัยและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ความสับสนในมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การสั่งปิดกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนประกาศมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน ความล่าช้าและการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและรวดเร็ว ความล่าช้าในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” และที่สำคัญที่สุด ความล่าช้าในการคลายล็อกให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ในเชิงของ “ความสมดุลด้านระบาดวิทยากับเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ” ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่ประเทศที่หยุดการระบาดได้อยู่หมัดบนซากปรักหักพังของเศรษฐกิจประเทศ และไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยการระบาดรุนแรงจนยืดเยื้อกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลให้การระบาดอยู่ในภาวะควบคุมได้และประคองเศรษฐกิจให้ยืนอยู่ได้ในวันที่โลกมีวัคซีน
จากความผิดพลาดของรัฐบาลดังที่ผมได้กล่าวมา ส่งผลให้ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศที่ได้รับความชื่นชมการควบคุมด้านระบาดวิทยา แต่สร้างความล้มเหลวในการเยียวยาและกอบกู้วิกฤติทางเศรษฐกิจ ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เห็น คือ พี่น้องประชาชนเดือดร้อนในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่กันทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการต้องปิดการดำเนินธุรกิจจากการประกาศล็อกดาว์นของรัฐบาล วันนี้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับตัวเลขของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษกิจ เกือบจะไม่แตกต่างกัน
ด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่เราต้องเสียไป ทำให้ปัจจุบัน เราอยู่ในภาวะที่จำเป็นที่ต้องใช้เงินและงบประมาณจำนวนมาก เข้ากอบกู้เศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนัก จนเกินเยียวยา จึงนำไปสู่การกู้เงินจำนวนมหาศาล ตาม พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับนี้
ผมคิดว่ารัฐบาลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า เงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ คนที่ต้องร่วมกันชดใช้คือประชาชนทั้งประเทศ กล่าวคือ ประชาชน รวมถึงลูกหลานเป็นลูกหนี้ แต่รัฐบาลเป็นคนเอาเงินไปใช้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องถูกนำไปใช้ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ การใช้เพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้เงินกู้ก้อนนี้ ทั้งนี้เพราะ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้สูงมาก แต่การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน ตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ
จึงเป็นความจำเป็นที่ตัวแทนของประชาชนมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลใช้เงินโดยตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของ พ.ร.ก. ฉบับแรก ซึ่งได้แก่ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือเราอาจเรียกสั้นๆว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท นั้น สามารถแยกพิจารณาเป็น 3 กลุ่มใหญ่
ส่วนที่ 1 : การแก้ไขการระบาดโควิด-19 จำนวน 45,000 ล้านบาท นั้น ผมเห็นถึงความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอด้านสาธารณสุข แต่รัฐบาลต้องสามารถชี้แจงต่อสังคมให้ได้ว่า งบประมาณก้อนนี้มีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไร ใครได้ประโยชน์บ้าง เพราะเท่าที่รัฐบาลชี้แจง การรักษาผู้ป่วยคนละ 1 ล้านบาท ซึ่งคิดแล้วเป็นเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทเท่านั้น แล้วที่เหลือไปไหน เรื่องการจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็มีข้อกังขามากมาย นอกจากนั้นผมเห็นว่า เครือข่าย อสม. ซึ่งถือเป็นแกนหลักในการหยุดการระบาด ควรได้รับการยกย่อง และได้รับการจัดสรรที่เหมาะสม
ส่วนที่ 2 : การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ จำนวน 555,000 ล้านบาท การเยียวยาเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่การเยียวยาในแบบของรัฐบาลมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ ยิ่งคัดกรองมาก ยิ่งหลุดมาก ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง คนเดือดร้อนจริงกลับไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและโศกนาฏกรรม หลักคิดในเรื่องนี้ ผมมองว่าเนื่องจากประชาชนเป็นคนจ่ายภาษี ควรใช้ระบบถ้วนหน้าในการเยียวยา
ส่วนที่ 3 : งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 400,000 ล้านบาท เงินก้อนนี้ เป็นก้อนที่พวกเราฝ่ายค้านเป็นห่วงที่สุด เพราะจะเป็นส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุด มีข้อสังเกตว่าแบ่งตามกระทรวงต่างๆ ไว้หมดแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ได้เข้าสภา และตามที่รัฐบาลกล่าวถึงทิศทางการใช้เงินก้อนนี้ ไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ และโอกาสของประเทศ เพราะจะสนับสนุนการจ้างงานภาคการเกษตร ใช้ฝึกอบรม รวมถึงใช้เป็นงบชุมชน เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส. เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิมๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง และการตอบแทนทางการเมือง โดยที่ถูกต้องโครงการต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองและตอบโจทย์เรื่องโควิด-19 ไม่ใช่ใช้จ่ายไปทั่ว
“ผมย้ำอีกครั้งว่า ฝ่ายค้านไม่ขัดข้องกับการกู้เงิน เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็น แต่ขอทักท้วงในด้านการนำไปใช้จ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์ ถูกต้อง ครอบคลุม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ และยังต้องคำนึงถึงศักยภาพของรัฐบาลที่เป็นผู้ใช้งบด้วย”
ในส่วนของ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 นั้น ผมเห็นถึงความจำเป็นของการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งหาได้ยากขึ้นในภาวะวิกฤติ ในแง่หลักการผมเห็นด้วย แต่เมื่อลงไปสู่การปฏิบัติ ตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ ผมมองว่า ดุลยพินิจของการปล่อยกู้ อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มปล่อยให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการความเสี่ยงเพิ่ม และไม่ต้องมีขั้นตอนวุ่นวาย ไม่ต้องประเมินหลักทรัพย์ จึงส่งผลให้ลูกค้าที่แข็งแรง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นขนาดกลางขึ้นไป ได้ประโยชน์จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยังคงเข้าไม่ถึงสินเชื่อเหมือนเดิม นอกจากนั้นยังเปิดช่องทางที่เอกชนรายที่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ เอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้เอกชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในราคาสูง มีลักษณะเหมือนสินเชื่อนอกระบบ รายใหญ่ได้ประโยชน์ รายเล็กโดนเอาเปรียบ
ท้ายสุด ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้คือมีเอสเอ็มอีจำนวนน้อยนิดที่ได้รับอนุมัติเงินกู้จาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้นี้ได้ คนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ กลับไม่ได้ ผมจึงขอเน้นความห่วงใยของผมไปที่เรื่องของความทั่วถึง และให้เงินกู้ลงถึงมือคนที่เดือดร้อนจริง
ในส่วนของ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 นั้น ผมจะไม่กล่าวในรายละเอียด แต่จะมอบหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านร่วมกันอภิปรายถึงรายละเอียดในเชิงลึกของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ต่อไป ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อทำให้ประโยชน์ของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับนี้ ลงสู่การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นผลต่อการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารจัดการที่โปร่งใส มิใช่เป็นแหล่งทุนที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โปรดระลึกไว้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นคือเงินอนาคตของลูกหลาน