อดีต รมว.คลัง ห่วงวิธีการแก้ไขเศรษฐกิจ เหมือนมี 2 รัฐบาล ธปท. มีอำนาจต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า ก.คลัง โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงการคลังโต้แย้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเกินไป โดย ธปท. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยแก้ยากกว่าที่คิด จากการระบาดของโควิด-19 หนี้ครัวเรือนสูง แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยยังมีอีกหลายวิกฤติ ทั้งการขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุน จากรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ ทำให้รายได้ของประเทศเติบโตช้าลงติดต่อกันเป็นเวลากว่า 6 ปี , โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ได้รับความสนใจ , เงินบาทที่แข็งค่ามาเป็นเวลานานตั้งแต่ต้นปี ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ยังเติบโตต่ำเฉลี่ยร้อยละ 2-3 ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน

ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่ามากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นกว่าเงินริงกิตของมาเลเซียถึงร้อยละ 27 (เมื่อ 7 ปีที่แล้ว 1 ริงกิต เท่ากับ 10 บาท ปัจจุบัน 1 ริงกิต เท่ากับ 7.3 บาท) ทั้งที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้ลงทุนพัฒนามากกว่ามาเลเซียจนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ และการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก สินค้าส่งออกของไทยจึงมีราคาแพงกว่าประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังการผลิตไม่เต็มความสามารถที่มีอยู่ (under capacity utilization rate) ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ราคาขายยากขึ้น บริษัทปิดตัวและคนตกงานเพิ่มขึ้น ประชาชนจะยากจนลงมาก หลังจากคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน เพิ่มขึ้น 2 ล้านคนแล้วใน 5 ปีที่ผ่านมา เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่คนจนเพิ่มขึ้น

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่บริหารระบบเศรษฐกิจมหภาค ต้องใช้นโยบายภาพรวม การที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังในปัจจุบัน เป็นเพียงการย้ายเงินที่ไม่มีผลทำให้เงินบาทในมือประชาชนเพิ่มขึ้น โดยให้ ธปท. คอยรักษาเสถียรภาพ ระมัดระวังอัตราเงินเฟ้อจนติดลบ เมื่อปริมาณเงินในระบบมีน้อยเกินไป เงินบาทจึงแข็งค่า ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการที่ ธปท. ระบุว่า ประชาชนเป็นหนี้ครัวเรือนมากเกินไป ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาแย่กว่าที่คิดนั้นถือเป็นการกล่าวหาพฤติกรรมของประชาชน (people consumption behavior) ที่เป็นภาวะปกติมาเป็นปัญหา แท้จริงแล้วหนี้ครัวเรือนต้องหักจากทรัพย์สินครัวเรือนก่อน หากประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น เพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์หรือทรัพย์สินไว้ ถือว่าเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง ไม่ใช่การกู้เงินมากไป แต่อาจหมายความว่ารัฐบริหารเศรษฐกิจแย่เกินไป จนทุกคนในประเทศมีรายได้ลดลง และไม่เห็นอนาคต

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยให้มีปริมาณเงิน (money supply) มากกว่านี้ ประชาชนจะมีเงินหมุนเวียนในมือมากขึ้น ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง รายได้จากการส่งออกจะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจะเติบโตตามไปด้วย

“ตราบใดที่รัฐบาลยังกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้ ธปท. นำไปปฏิบัติไม่ได้ ก็เหมือนมีรัฐบาล 2 รัฐบาล โดย ธปท.มีอำนาจต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน” ศ.ดร.สุชาติ กล่าว