คณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ชี้ความปรองสมานฉันท์ใน 3 จว.ชายแดนใต้ เริ่มต้นด้วยการลดความรุนแรง -รัฐต้องลดใช้กฎหมายความมั่นคง สร้างบรรยากาศพัฒนาเศรษฐกิจ
คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดเสวนา “สันติสุขชายแดนใต้ : ดอกไม้หลากสี” โดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ผลักดันโครงการสันติสุขชายแดนใต้ ดอกไม้หลากสี บรรยายพิเศษในหัวข้อ สันติสุขภายใต้ทฤษฎี “ดอกไม้หลากสี” ที่ชายแดนใต้ โดยได้เสนอ 4 แนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้างบริบทในการพูดคุยเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ เริ่มที่การลดความรุนแรง ภาครัฐต้องลดการใช้กำลังหลักมาเป็นกำลังในพื้นที่ ลดการใช้กฎหมายความมั่นคง เพื่อสร้างบรรยากาศในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
“หลักคิดสำคัญของการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ คือ การสร้างทุก ๆ บรรยากาศที่มีอยู่ให้เอื้อต่อการปรองดอง และท้ายที่สุดจะนำไปสู่ การให้อภัยต่อกัน ร่วมมือกันพัฒนาชาติบ้านเมือง โดยจะใช้ช่องทางของคณะกรรมาธิการ ทำการศึกษาหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เพื่อเสนอเป็นทางออกของปัญหา เป็นข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เป็นการทำงานคู่ขนาน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น โดยความยินยอมพร้อมใจของพี่น้องประชาชน ที่สำคัญ มาจากข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชน” นายชวลิตกล่าว
จากนั้นได้มีกิจกรรมเสวนาบนเวที หัวข้อ การสร้างความสงบร่มเย็น และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมี พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ เสนาธิการ กองทัพภาค 4 ตัวแทนแม่ทัพภาค 4 นายอาเต๊ฟ โซ๊ะโก ประธานองค์กร เดอะ ปาตานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเสวนา
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้กระบวนการยุติธรรม และสนับสนุนการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพ และการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ในการแก้ไขปัญหา และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ร่วมกันระดมความคิดเห็นในการแก้ปัญหา โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ นักการเมือง ทั้งอดีต และปัจจุบัน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน