เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เพิ่ม 3 ประเด็นโต้แย้งตั้งคำถาม “พล.อ.ประยุทธ์” ทำผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เหตุใช้อภิสิทธิ์เหนือผู้อื่นเพราะยังอยู่ในบ้านพักหลวงทั้งที่เกษียณแล้ว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักของทางราชการทั้งที่เกษียณแล้ว โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า หรือค่าเช่าบ้าน พรรคเพื่อไทยมี 3 ประเด็นเพิ่มเติมจากหลักการ 5 ประเด็นที่ได้กล่าวกก่อนหน้านี้ ได้แก่

  1. พลเอกประยุทธ์ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม “มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ซึ่งกำหนดว่า “ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” เพราะไม่ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ และใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมือง
  2. การนำเอาเรื่อง “การรักษาความปลอดภัยมาเป็นข้ออ้างนั้นฟังไม่ขึ้น” เพราะ
    2.1 สิ่งที่พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวอ้าง เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย เป็นเพียงการคาดคะเนของ ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการร้องขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการเพิ่มเติมใด ๆ จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ 2522 และระเบียบดังกล่าวนายกฯ เป็นผู้รักษาการณ์
    2.2 ที่ผ่านมายังไม่มีสิ่งบอกเหตุอันตรายใด ๆ ในการที่จะเกิดกับพลเอกประยุทธ์ฯ แต่อย่างใด
    2.3 นายกรัฐมนตรีในอดีตหลายท่าน พักบ้านส่วนตัว หรือพักบ้านพักรับรองนายกรัฐมนตรีคือ บ้านพิษณุโลก หากห่วงเรื่องความปลอดภัยสามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลได้ หากคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่กล้าอยู่บ้านพักตนเอง จะสามารถคุ้มครองดูแลประชาชนได้อย่างไร
  3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคท้าย กำหนดว่า “ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ” ดังนั้นคำวินิจฉัยนี้จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่า ข้าราชการเกษียณอายุราชการไปแล้ว สามารถอยู่บ้านหลวงฟรีได้ ใช้น้ำประปาฟรีได้ ใช้กระแสไฟฟ้าฟรีได้หรือไม่ จึงขอให้ประชาชนติดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธันวาคมนี้

สำหรับ 5 หลักการที่พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอก่อนหน้านี้ ได้แก่

  • บ้านพักรับรอง บ้านพักอาศัยสวัสดิการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน
  • บ้านพักรับรองใช้เป็นการชั่วคราว ใช้รับรองบุคคลภายนอก
  • พลเอกประยุทธ์ มิได้ปฏิบัติภารกิจในกองทัพบก การอ้างว่าเป็นบ้านพักรับรอง ไม่ใช่เหตุผลในการได้รับสิทธิ์พักอาศัย
  • การพักในบ้านพักสวัสดิการของทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการ เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะพลเอกประยุทธ์ ดำรงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • ตามกฎหมาย บุคคลที่มิได้รับราชการจะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางราชการไม่ได้

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแล้ว จะนำคำวินิจฉัยนั้นกลับมาศึกษาอีกครั้ง หากคำวินิจฉัยเป็นโทษกับพลเอกประยุทธ์ จะมีผลผูกพันและอาจส่งผลต่อการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะตรวจสอบย้อนกลับไปที่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คน ที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการว่าจะเข้าข่ายเดียวกันหรือไม่