บทความ : “ประยุทธ์” อยู่บ้านพักฟรี จากภาษีใคร?

เมื่อนับเวลาที่ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลาออกนั้นเนิ่นนานพอที่จะทำให้คนๆหนึ่ง เกิดความละอายแก่ใจ ลงจากตำแหน่งอย่างสง่างามได้บ้าง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำตรงกันข้าม ยังคงนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างมองลงมาข้างล่าง เห็นแต่ภาพของผู้ชุมนุมโห่ร้องปราศรัย แต่กลับ (แสร้ง) ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย

กระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศผ่านวิธีการของประชาชนยังคงดำเนินต่อไป ในฟากฝั่งของกระบวนการทางกฎหมายยังมีช่องทางอีกมากที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมจำนน เดินลงจากหอคอยลงกลับบ้านเก่าได้

พล.อ.ประยุทธ์ กระทำการเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายหลายความ แต่ด้วยในห้วงเวลาหนึ่งเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำให้มีสิทธิขาดที่จะสร้างหรือยกเลิกกฎหมายเฉพาะตัว โดยที่การกระทำทุกอย่างไม่ว่าผิดหรือไม่ ก็มีกฎหมายรองรับให้การกระทำนั้นพ้นผิด

แต่ไม่ใช่ว่าเขาคนนี้ทำผิดแล้วไม่มีใครเห็น

พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีอยู่อาศัยในบ้านพักทหารในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นบ้านพักทางราชการทหาร อยู่อาศัยมาตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เกษียณอายุราชการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557 โดยไม่เสียค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพักอาศัยให้ทางราชการ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่านับล้านบาท ถือว่าเกินกว่า 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดเอาไว้ เข้าข่ายรับประโยชน์ใดจากหน่วยงานราชการ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

กุนซือด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย บอกว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้ว ไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่บ้านพักนี้ แต่ที่ผ่านมาอยู่ในบ้านพักหลังนี้มาโดยตลอด ที่สำคัญคือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ น้ำฟรี ไฟฟรี มีคนรับใช้ มีคนดูแลความปลอดภัยทุกอย่าง

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2557 ยาวมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งที่เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้ว ไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่บ้านพักนี้ เพราะการอยู่ในบ้านพักนี้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นการเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ระบุว่า ห้ามบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรียกรับผลประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ นอกเหนือไปจากที่หน่วยงานนั้นจะให้บุคคลอื่นตามปกติ เพราะฉะนั้นต้องถือว่าพ้นจากตำแหน่ง

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ คืออะไร?

ผลประโยชน์ขัดกัน หมายถึง
มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก็คือ
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เขียนมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540
และในอดีตที่ผ่านมา
การกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญมาหลายเรื่องแล้ว
ตัวอย่างเช่น ท่านสมัคร สุนทรเวช กรณีจัดรายการชิมไปบ่นไป เป็นต้น
และท้ายสุดก็ทำให้พ้นจากตำแหน่ง โดยตีความว่าเป็นลูกจ้าง รับทำอาหาร
ถือว่าเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์” … นายชูศักดิ์ กล่าว

เคยมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่?

กรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
การไปทำรายการทำอาหารออกทีวี ถือเป็นลูกจ้าง แม้จะไม่มีสัญญาจ้าง
แต่การตีความ จะถูกตีความว่าเป็นสัญญาจ้างโดยปริยาย
จึงถูกวินิจฉัยว่าทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อเทียบกับกรณีของ
พล.อ.ประยุทธ์ แม้ข้อเท็จจริงอาจแตกต่างกัน
คนละอนุมาตราหนึ่งที่ว่าคือการรับผลประโยชน์ ซึ่งผลประโยชน์อะไรที่ได้รับ
คือ อยู่บ้านฟรี ไม่ต้องเสียค่าเช่า น้ำฟรี ไฟฟรี สวัสดิการทั้งหลายฟรี
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ต่างก็ถือว่าเป็นการได้รับประโยชน์จากหน่วยราชการ

ส่วนข้อยกเว้นที่อ้างว่าหากกองทัพบกให้ต่อบุคคลอื่นเช่นเดียวกันตามปกติ ก็สามารถให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เหมือนกันนั้น รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า ในอดีตที่ผ่านมามีนายกฯ หลายท่าน แต่กองทัพบกไม่ได้ดูแลหรือให้สิทธิ์เท่าเทียมกัน แม้กระทั่งอดีต นายกฯ ที่เป็น ผบ.ทบ. เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่เคยร้องขอบ้านพักกองทัพบก เพราะฉะนั้นการอาศัยในบ้านพักทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมือนกับบุคคลอื่น ไม่เข้าข้อยกเว้นใดๆ อย่างไรก็เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์อยู่ดี

ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพส่วนใหญ่จะมีสวัสดิการ เช่น การให้บ้านพัก แต่เป็นการให้ในขณะที่ดำรงตำแหน่งราชการ จึงจะได้รับสิทธิ์นี้ เรียกว่า “บ้านพักประจำตำแหน่ง” แต่เมื่อเกษียณราชการแล้ว จึงหมดสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยในบ้านพักนั้น

“การอยู่มาโดยไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่ เท่ากับเอาเปรียบราชการ” … นายชูศักดิ์ กล่าว

กุนซือด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย บอกอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับประโยชน์มากมายจากราชการ ซึ่งได้รับมานานแล้ว และยังอยู่ต่อไป โดยกองทัพบกอ้างว่า การให้อยู่ เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย ทั้งที่กองทัพไม่ได้มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้นายกฯ

ส่วนประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาต่อสู้ว่าการอยู่อาศัยนั้นเป็นบ้านรับรอง ซึ่งต้องไปดูว่าบ้านหลังนี้ ได้เปลี่ยนจากบ้านสวัสดิการเป็นบ้านรับรองตั้งแต่เมื่อไหร่ และความหมายของบ้านรับรอง คือการรับรองเป็นครั้งคราว เฉพาะกิจ ไม่ใช่อยู่ยาวตลอดชีวิตแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำในตอนนี้

มาที่บุคคลที่ทำให้การเปิดโจทย์ใหม่ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกลับไปหาข้อแก้ต่างอย่างหนัก คือพ่อบ้านแห่งพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นนี้ บอกว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์

“ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นเหตุทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยเฉพาะ “การไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆจากหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ”  ซึ่งโดยหลักข้าราชการที่เกษียณอยู่บ้านหลวงไม่ได้ เป็นไปตามระเบียบการพักอาศัยของกองทัพบก

“พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้านหลังนี้มาตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. แปลว่าเป็นบ้านประจำตำแหน่ง บ้านสวัสดิการ จนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ในบ้านหลังนี้มาโดยตลอด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แล้วจะบอกว่าเป็นบ้านพักรับรองได้อย่างไร อยู่มาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา ค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ คิดเป็นมูลค่านับล้านบาท ถือว่าเกินกว่า 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดเอาไว้ เข้าข่ายรับประโยชน์ใดจากหน่วยงานราชการ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งต้องรอดูว่าวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า หากเป็นกระทำเช่นนี้ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที” … นายประเสริฐ กล่าว

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อธิบายให้ฟังว่า ตามระเบียบการพักอาศัยของกองทัพบก มีข้อหนึ่งระบุอีกว่า ระหว่างรับราชการอยู่ หากอยู่บ้านพักสวัสดิการของราชการ ต้องไม่มีบ้านอยู่ในกรุงเทพหมานคร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มีบ้านอยู่ในเขตนี้ เหตุใดยังอยู่บ้านหลวง ทั้งยังเคยอ้างถึงการพักอยู่ในค่ายทหารมีความปลอดภัยกว่า แล้วนายกฯท่านอื่นๆ เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีต ผบ.ทบ. และอดีตนายกฯ ไม่เคยพักบ้านหลวง , นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ อยู่ในสถานการณ์การเมืองร้อนแรง มีม็อบชุมนุม ก็ไม่เคยทำเช่นนั้น ยังอยู่บ้านของตัวเอง

ส่วนการดูแลความปลอดภัยของนายกฯ ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพบก แม้นายกฯ และคนในรัฐบาลเคยชี้แจงถึงความจำเป็นในการรักษาความปลอดภัย ต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลวงในกรมทหารราบที่ 1 แต่ความจริงศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของนายกฯ เพราะฉะนั้นข้ออ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ไปอยู่บ้านพิษณุโลก ที่เป็นบ้านพักรับรองของนายกฯ เพราะในอดีต พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ , นายชวน หลีกภัย เคยพักอาศัยอยู่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าต้องซ่อมแซมก่อนเข้าไปอยู่ ซึ่งเหตุผลนี้ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

“หากเปรียบเทียบกรณีคดีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ปมลูกจ้าง-ค่าตอบแทน ที่จัดรายการชิมไปบ่นไป และรายการยกโขยงหกโมงเช้า หากเอาคดีนี้เป็นบรรทัดฐาน ผลประโยชน์ที่นายสมัครได้รับยังไม่เท่ากับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับ ทั้งเป็นข้อเท็จจริงจับเข้ากับข้อกฎหมาย ไม่ต้องตรวจสอบอะไรมาก” … นายประเสริฐ กล่าว

แม้จะมีความพยายามในการส่งเอกสารชี้แจงจากกองทัพบกเกี่ยวกับระเบียบการพักถึง 2 ครั้ง จากทหารชั้นผู้ใหญ่ถึง 2 คน โดยในเอกสารชี้แจงว่า การอยู่บ้านพักทหารของอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่เกษียณแล้ว เป็นเรื่องของ “ระเบียบที่ได้รับการยกเว้น”

ชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ อยู่หรือไป เสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่านจะเป็นผู้ชี้ขาด … โปรดติดตาม 2 ธันวาคมนี้ เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป