โควิดทุบเศรษฐกิจดับ – จุดเริ่มต้นของหายนะด้านเศรษฐกิจของประเทศ

การระบาดของโควิด-19 รอบนี้เป็นการระบาดครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2563 หญิงไทยวัย 67 ปี อาชีพค้าขายที่ตลาดกลางกุ้ง ใน ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ติดเชื้อโดยไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อรายนี้ไม่ได้เป็นต้นทางของเชื้อโควิด-19 แต่เป็นการติดเชื้อมาจากคนต่างถิ่น

เพียงสามวันหลังจากพบผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลายร้อยราย และการระบาดในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน

เพราะมากกว่าครึ่งไม่แสดงอาการ

การระบาดครั้งนี้ไม่ได้แค่ต่างไปจากรอบแรก แต่เป็นการระบาดที่ “เปิดแผลใหญ่” รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแล ปกป้อง อำนาจอธิปไตยของประเทศ แต่กลับปล่อยให้มีการนำเชื้อโรคระบาดร้ายแรงข้ามพรมแดนไทยมาได้อย่างผิดกฎหมาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นในการระบาดรอบนี้ มีต้นเหตุมาจากรัฐบาลที่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ รัฐบาลชุดนี้เข้ามาสู่อำนาจเพื่อสร้างแต่ความเสียหายให้กับประเทศทั้งสิ้น

สิ่งที่จะสามารถยืนยันได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศมากน้อยแค่ไหน คือตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ทันทีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใน 1 เดือน ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ รวม 45,000 ล้านบาท ใน 3 กลุ่มหลัก อย่างกลุ่มสินค้าทะเล การจับจ่ายในช่วงปีใหม่ และรายได้ภาคการท่องเที่ยว ยังไม่รวมรายได้จากกลุ่มอื่นๆ และการเสียหายในระยะยาว

ความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ ทุกวันที่ผ่านพ้นไปความเสียหายย่อมเคลื่อนไหวอยู่ทุกนาที ประชาชนยังต้องกินต้องใช้ทุกวัน เรื่องเหล่านี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์, รัฐมนตรี และข้าราชการ อาจไม่รับรู้ถึงความยากลำบากนี้ เพราะพวกท่านยังได้รับเงินเดือนเข้าบัญชีทุกเดือน

เป็นเรื่องตลกร้ายสิ้นดี ที่เงินเดือนของคนเหล่านี้มาจากภาษีของคนตกงาน

เหล่าสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน นักวิชาการ หรือแม้หน่วยงานของภาครัฐเองจะต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2564 ขนานใหญ่ จากที่เคยประเมินว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะโผล่พ้นน้ำ แต่ดูท่าทางแล้ว คง “จมดิ่งลึกกว่าเดิม”

น่าเศร้าที่ประเทศไทยมีผู้นำที่ไร้ความสามารถ เป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจซึ่งไม่มีความสามารถจัดการการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 2 ระลอกได้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด

เปิดศักราชใหม่ 2564 เมื่อวันที่ 5 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับว่า ผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว “เตรียมงบประมาณเยียวยามากเท่าไหร่ก็ไม่พอ

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ สอดคล้องกับกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะนำเอามาตรการเราไม่ทิ้งกัน ภาค 2 กลับมาใช้ใหม่ แต่ครั้งนี้จ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคนละ 4,000 บาท/เดือน ได้เพียง 2 เดือน น้อยกว่าการระบาดในรอบแรกที่จ่าย 5,000 บาท/เดือนเป็นเวลา 3 เดือน เรื่องนี้คนในรัฐบาลเองต้องออกมาแก้ข่าวขนานใหญ่ว่ากระแสข่าวจ่ายเดือนละ 4,000 บาท 2 เดือนนั้นไม่เป็นความจริง

นั่นเพราะเพื่อป้องกันความเชื่อมั่นในสถานะทางการคลังของรัฐบาลที่กำลังกระท่อนกระแท่น และเข้าสู่ภาวะแห่งความยากลำบาก เพราะเอาทหารมาคุมเงินคลังหลวงของประเทศ

หายนะทางการคลัง?

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นห่วงว่า การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อดูแลการระบาดของโควิด-19 ในเวลาเดียวกันกับที่การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจัดเก็บรายได้พลาดเป้าไปกว่า 3 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง 2 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขที่กู้ได้นั้นต่ำกว่าตัวเลขที่จัดเก็บฯ พลาดเป้า (1 แสนล้านบาท)

เป็นการดึงเอาเงินคงคลังซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้วมาใช้ สภาพคล่องจึงน้อยลงไปมาก หนี้สาธารณะจึงมากขึ้น แม้จะยังอยู่ในกรอบวินัยทางการคลังที่ไม่ควรเกิน 60%

หนี้สาธารณะคืออะไร?

คือ หนี้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานของรัฐ “กู้หรือค้ำประกัน” เพื่อนำไปพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาประเทศ เช่น สร้างถนน พัฒนาไฟฟ้า ฯลฯ เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคนเพราะประชาชนต้องเสียภาษี เพื่อให้รัฐบาลนำเงินภาษีไปจ่ายหนี้ที่กู้มา

.. พูดง่าย ๆ ว่า เป็นหนี้ของสาธารณชนคนไทยทุกคน

โดยในตอนนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 7.8 ล้านล้านบาท หรือ 49.3 % ต่อจีดีพี หนี้สาธารณะที่เห็นอาจจะเป็นตัวเลขหนี้ที่ต่ำกว่าตัวเลขจริง เพราะ GDP ที่ลดลงมากขึ้น หนี้ก็ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรัฐบาลเองได้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปีต่อๆ ไปไว้ว่า

ปี 2564 จะอยู่ที่ 56%
ปี 2565 จะอยู่ที่ 57.6%
ปี 2566 จะอยู่ที่ 58.6%
ปี 2567 จะอยู่ที่ 59%
ปี 2568 จะอยู่ที่ 58.7%

ใจคอ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จะคาดการณ์ว่าสาธารณชนคนไทยจะเป็นหนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันไปจนเกินกว่าอายุรัฐบาลของท่านเลยหรือ

แต่เหนือกว่าจำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น หนี้นั้นทำให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่ หนี้ที่เพิ่มขึ้นสร้างรายได้เข้าประเทศหรือเปล่า หรือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น มีส่วนมาจากการซื้อของที่ไม่จำเป็นใช่หรือไม่

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า เมื่อเอาหนี้สาธารณะ ทบเข้ากับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (ไม่รวมกับ 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการ ไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะกับระบบการคลัง) แต่ทั้งหมดเป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นมากมาย มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคใด ๆ จึงทำให้..

“รัฐบาลไทยก้าวสู่ปากประตูของการล้มละลายทางการคลังแล้ว”

คนตกงานพุ่ง – ผู้เสมือนคนว่างงานเพิ่ม

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การระบาดรอบแรก อัตราการว่างในตอนนั้นไม่ถึง 1% หรือ 3.7 แสนคนเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งระบบ 37 ล้านคน แต่สุดท้ายอัตราการว่างงานจริงดีดตัวขึ้นมาเท่าตัวทันที เป็น 7.4 แสนคนหรือเพิ่มขึ้นเป็น 2%

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ไม่ถูกเปิดเผยและไม่ได้รับความสนใจมากนัก คือ “อัตราเสมือนผู้ว่างงาน” คือคนที่ทำงงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน คนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพราะจำนวนชั่วโมงที่ได้ทำงานน้อย

ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก ประเทศไทยเคยมีผู้เสมือนว่างงาน 7.4 แสนคน เมื่อเกิดการล็อคดาวน์ในรอบแรก อัตราเสมือนการว่างงานเพิ่มขึ้น 7 เท่า ไปอยู่ที่ 5.4 ล้านคนทันที สอดคล้องกับตัวเลขการว่างงานในเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ว่างงานรวม 8.1 แสนคน เป็นผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมอยู่ที่ 4.88 แสนคน

พักหนี้ แต่หนี้ไม่พัก

เมื่อกำลังซื้อลดลง ย่อมกระทบหนึ่งในเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกหนึ่งตัวคือ การอุปโภค-บริโภคภายในประเทศ ในส่วนของมาตรการที่รัฐเคยใช้ไปแล้ว เช่น การพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย เป็นเพียงการหยุดพัก ไม่ได้หยุดคำนวณ เพราะในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงรายงานในงบการเงิน เสมือนว่ามีรายได้จากสินเชื่อที่ได้หยุดพักชำระหนี้เหมือนเดิม สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “หนี้ครัวเรือน”

ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86.6% ซึ่งหมายถึงคนหนึ่งคนมีรายได้ 100 บาท เป็นหนี้ไปแล้ว 86.6 บาท เหลือเงินไว้กินไว้ใช้ 14 กว่าบาท

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนนี้ สูงสุดในรอบ 18 ปี และสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับในกลุ่มประเทศรายได้ไม่สูง และมีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนในปี 2564 จะทะยานไปแตะที่ 91%

ปีนี้มีโอกาสที่คนไทยจะเหลือเงินติดกระเป๋าแค่ 9 บาท??

5 เครื่องจักรเศรษฐกิจ “พังแทบทุกตัว”

เมื่อกางแผนที่เครื่องจักรทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีฟันเฟืองใหญ่ทั้งหมด 5 ตัวได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก และการท่องเที่ยว ที่ล้วนพัวพันกันอย่างแยกไม่ออก การระบาดระลอกนี้ ฟันเฟืองหลักทั้ง 5 ตัวจะทรุดลงแน่นอน จากเดิม Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าฟันเฟืองบางตัวจะยังใช้งานได้ เพราะยังไม่ได้ประมาณการการระบาดในระลอกที่ 2 นี้ไว้

ในปี 2564 นี้ SCB EIC คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 การส่งออกในปี 2563 จะติดลบที่ 8.0% ปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 4.7% ตัวเลขการส่งออกที่เป็นบวกมากขนาดนี้มาจากฐานของการเปรียบเทียบแบบปีต่อปี ในปี 2563 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ติดลบ ถือเป็นการฟื้นตัวเชิงเทคนิค และยังไม่รวมกับผลกระทบจากการระบาดในรอบที่ 2

ดังนั้นการส่งออกอาจจะแย่กว่านี้

จำนวนบริษัทเปิดใหม่ลดลง – จำนวนบริษัทปิดกิจการเพิ่มขึ้น

เมื่อส่งออกแย่ แรงงานในภาคส่งออกที่แม้โรงงานขนาดใหญ่จะมีสายป่านยาวกว่ากิจการรายย่อย ก็ต้องพ่ายแพ้จ่อวิกฤติในครั้งนี้ ตัวเลขคนตกงาน คนว่างงานเดิมและหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้น แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง บางส่วนต้องออกจากระบบ ไปทำงานนอกระบบ

เมื่อเดือนตุลาคม 2563 (เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2563) จำนวนนายจ้างลดลง 1.1% จำนวนลูกจ้างลดลง 2.4% สอดคล้องกับจำนวนกิจการที่ปิดตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 ที่เพิ่มขึ้นถึง 34.8%

GDP ไทยติดลบหนัก
ก่อนเกิดการระบาดระลอกที่ 2 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2563 จะหดตัว -7.1% (จากเดิมคาดว่าจะหดตัว -7.7%) และในปี 2564 ตัวเลข GDP อาจจะแย่กว่านี้แน่ จนถึงตอนนี้ยังนึกภาพไม่ออกว่าเมื่อรวมเข้ากับการระบาดในระลอกที่ 2 ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะติดลบมากแค่ไหน

ทีมที่ดีช่วยได้?
ฟันเฟืองหลักทางเศรษฐกิจทั้ง 5 ตัว จะขยับได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีความสามารถมากพอที่จะแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ด้วย “ทีม” ที่มีอยู่ หรือ

แม้หัวหน้าทีมจะไร้ซึ่งความสามารถ แต่ถ้าคนในทีมเก่งพอ ทำงานร่วมกันได้อย่างสอดประสาน ฟังเสียงทักท้วงจากผู้อื่นบ้าง หยิบเอาข้อเสนอแนะมาใช้อย่างเหมาะสม จากวิกฤติที่หนักมากอาจจะทุเลาความรุนแรงลงได้

ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อประชาชนคนไทยทุกคน