“โฆษกเพื่อไทย” เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จัดการยาเสพติดระบาด บ่อนเกลื่อนเมือง เหมือนรัฐไทยไร้ตำรวจ ชี้แจกเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน ลอกการบ้านเก่าแต่เหตุใดออกมาตรการช้า แถมน้อยกว่าเดิมเพิ่มเติมคือความจน

ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข่าวการระบาดของยาเคนมผง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13 ราย ซึ่งยาเสพติดชนิดนี้ประกอบไปด้วยยาเสพติดหลายประเภท หาซื้อง่ายขายคล่อง สะท้อนให้เห็นว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้ามาบริหารประเทศเข้าสู่ปีที่ 7 มีอำนาจมากล้น แต่ยาเสพติดยังทวีความรุนแรงมากขึ้น วาระแห่งชาติในการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปตำรวจเงียบหาย เข้าตำราหัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก เหมือนรัฐไทยไร้ตำรวจ นอกจากปัญหายาเสพติดแล้วยังไม่สามารถสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังบ่อนผิดกฎหมายในหลายพื้นที่ และใครคือตัวการที่ปล่อยให้มีการเดินทางข้ามพรมแดนมาอย่างผิดกฎหมายได้ สิ่งเหล่านี้ประชาชนล้วนสงสัยและต้องการให้รัฐสืบสาวไปถึงต้นตอตัวจริง

นอกจากนี้ในภาพรวมการแก้ปัญหาประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 และการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างล่าช้าและอยู่ในกรอบมาตรการเดิมๆ อย่างโครงการเราชนะ แจกเงินเยียวยา 3,500 บาท ในระยะเวลา 2 เดือน เป็นเพียงการลอกการบ้านเก่า แถมน้อยกว่าเดิมเพิ่มเติมคือความจน ควรดำเนินการอย่างรวดเร็วกว่านี้ แต่ขณะนี้คนไทยมองไม่เห็นอนาคตผ่านวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศแต่อย่างใด เพราะเป็นผู้นำที่มาจากเผด็จการ ใช้ความกลัวเป็นเครื่องควบคุมคน การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 จึงดูน่ากลัว ตรงข้ามกับข้อมูลของการระบาดในครั้งนี้ แม้เชื้อโรคมีการแพร่ระบาดเร็ว แต่อัตราการตายต่ำเมื่อเทียบกับครั้งก่อน แต่รัฐกลับไม่พยายามสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยควรปรับรื้อโครงสร้างการผลิตใหม่ โดยเน้นเพิ่มทักษะแรงงาน และการเรียนรู้เทคโนโลยี โดยเสนอให้รัฐใช้มาตรจูงใจลดภาษี (Tax) ให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าปลอดเชื้อโรคโควิด-19 ผ่าน Product Coronavirus-Free เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการส่งออกได้ ภายใต้การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลกที่มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันการเยียวยาในภาพรวมจะต้องครอบคลุมไปถึงกลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่สุ่มชิงโชคด้วยการลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพราะคนที่ขาดการเข้าถึงเทคโนโลยียังมีอีกมากในประเทศไทย

“ความยุติธรรมในยามวิกฤติ คือ การเยียวยาคนที่อ่อนแอให้ได้รับสิทธิ์ทุกคน ไม่ใช่ความยุติธรรมที่รัฐเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิ์ เพราะผู้อ่อนแออาจเข้าไม่ถึงสิทธิ์นั้น เช่น ผู้สูงอายุ คนตกงาน หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ซึ่งรัฐมีข้อมูลจำนวนคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว ต้องได้รับสิทธิ์การเยียวยา” ผศ.ดร.อรุณี กล่าว