“ยุทธพงศ์” เตรียมยื่นยับยั้งการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ชี้ซ้ำเติมประชาชนในภาวะวิกฤติ
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส.ส.มหาสารคาม , นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ และนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี ร่วมกันแถลงเรื่องการยับยั้งการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยอภิปรายคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี โดยในส่วนของสภามีมติไม่เห็นชอบกับการขยายสัมปทาน ให้รอหมดอายุสัมปทานเพื่อให้เกิดการแข่งขัน มีการแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีรับทราบ และมีหนังสือส่งกลับมาว่า จะปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แต่เวลาปฏิบัติกลับใช้ตามคำสั่งมาตรา 44 และวันนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ประกาศว่า วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ จะขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็น 104 บาทตลอดสาย หากต้องนั่งไป-กลับ ค่าโดยสาร 208 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาท ประชาชนจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนเพิ่มขึ้นไปอีก
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ กทม. ขึ้นค่าโดยสาร เพราะเป็นหนี้ BTS กว่า 8,000 ล้านบาท จากการจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ซึ่งเหมือนเอาคน กทม. เป็นตัวประกัน แต่ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังอยู่เฉย ไม่เรียกผู้ว่าฯกทม. มาหาทางยับยั้งการขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ การที่ กทม. รับโอนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ทั้ง หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ จาก รฟม. มูลค่าหนี้ทั้งหมด 51,785 ล้านบาท ผู้ว่าฯกทม. จึงออกข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการกู้เงินเพื่อโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 แต่ผ่านมา 3 ปีแล้วยังไม่ทำอะไรเลย ไม่มีการกู้เงินสักบาท แต่กลับมาใช้วิธีการขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งเรื่องนี้ ครม. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้ กทม. เพื่อใช้หนี้ รฟม. แต่เหตุใดจึงไม่ดำเนินการ ซึ่งเข้าข่ายผิดมาตรา 157 หรือไม่
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ขอเสนอให้ กทม. ชะลอการขึ้นค่าโดยสาร 104 บาท ภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน เพราะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังลำบากจากภาวะเศรษฐกิจ และโควิด-19 นอกจากนี้ต้องคิดค่าโดยสารในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ ค่าโดยสารต้องให้ประชาชนรับได้ กทม. มีหน้าที่ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ไม่ใช่ทำกำไรสูงสุด โดยในวันอังคารที่ 26 มกราคมนี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และผู้ว่าฯกทม. เพื่อยับยั้งไม่ให้ขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า