ศูนย์นโยบายเพื่อไทย หั่น GDP ปี 64 ทรุดเหลือ 2.2% นักท่องเที่ยว 3 ล้านคน ส่งออกฟื้นช้าสุดในภูมิภาค

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย ได้ประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2564 อยู่ที่ 1.6-2.8% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.2% โดยเห็นว่าการระบาดระลอกใหม่ถึงแม้จะกระทบระบบเศรษฐกิจไม่มากเท่าระลอกแรก เนื่องจากเป็นมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ และเจาะจงเป็นบางพื้นที่ แต่ต้องไม่มองข้ามภาวะของภาคเอกชน ภาคครัวเรือน และตลาดแรงงานที่เปราะบางกว่าช่วงก่อนการระบาดในระลอกแรกมาก

ภาคเอกชนและตลาดแรงงาน ยังไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ การปิดกิจการ การว่างงานและเสมือนว่างงานยังไม่มีสัญญาณลดลง จากการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง Q3/63 ส่งผลไปที่ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงและมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในระยะต่อจากนี้ เป็นแรงฉุดที่สำคัญต่อศักยภาพมาตรการทางการคลังในปี 2564

ด้านการส่งออก จะฟื้นตัวช้าและมีแนวโน้มช้าที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากโครงสร้างสินค้าส่งออกเป็นประเภทฟื้นตัวช้า เช่น รถยนต์ เครื่องจักร ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคผลิตสินค้าฟื้นตัวเร็ว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป กอปรกับไทยมีสัดส่วนคู่ค้ากับประเทศฟื้นตัวเร็ว เช่น จีน ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค และปัจจัยค่าเงินบาทแข็งส่งผลต่อความเสียเปรียบด้านราคา ทั้งนี้คาดการณ์ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.00 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2564

คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 3 ล้านคน บนสมมติฐานว่าประเทศพัฒนาแล้วได้รับวัคซีนอย่างแพร่หลาย วัคซีนมีประสิทธิภาพ และภาครัฐไทยมีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีน หากปัจจัยไม่เป็นไปตามปัจจัยข้างต้น มีแนวโน้มที่กรณีเลวร้ายประเทศไทยจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลยในปี 2564

การลงทุนภาคเอกชนยังมีปัญหา เนื่องจากการบริโภคสินค้าคงทนไม่มีสัญญาณฟื้นตัว และขาดมาตรการภาครัฐดึงกำลังซื้อจากกลุ่มรายได้กลาง-สูง ซึ่งมีแนวโน้มใช้จ่ายในสินค้าคงทนในอัตราส่วนที่สูง ซึ่งนำไปสู่การลงทุนภาคเอกชน รัฐบาลควรปรับใช้มาตรการที่กระตุ้นด้านการลงทุนภาคเอกชน มากกว่าด้านบริโภคของครัวเรือนเพียงด้านเดียว

ส่วนนโยบายการเงิน คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะถูกตรึงไว้ที่ 0.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.7-0.9 ทั้งนี้ศูนย์นโยบายฯเพื่อไทยสนับสนุนให้ดำเนินมาตรการทางการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ (Unconventional) เนื่องจากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัดมาก ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะไม่กลับไปยังระดับก่อนโควิด-19 แน่นอน