พรรคเพื่อไทย ห่วงใยปัญหาการเยียวยาจากมาตรการภาครัฐ ความคืบหน้าประเด็นวัคซีนโควิด-19 และผลกระทบระบบการศึกษาไทย
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย และ ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (2 กุมภาพันธ์ 2564) แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยปัญหาเยียวยากลุ่มตกหล่น ไม่มีสมาร์ทโฟน ประเด็นวัคซีนโควิค-19 ล่าช้า และผลกระทบต่อระบบการศึกษาและเยาวชน โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวเริ่มต้นว่า พรรคเพื่อไทยห่วงใยเรื่องมาตรการเยียวยา และยืนยันว่ามาตรการเยียวยาที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอให้เยียวยา รวดเร็ว ครอบคลุมและทั่วถึง สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยให้เป็นเงินสด 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน ประการถัดมา มาตรการให้เงินกู้แก่บริษัทเอกชนจะต้องมีความชัดเจน และทำให้เอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย และพรรคเพื่อไทยยังเคยเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือกองทุน 1 ล้านล้านบาท
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยเสนอมาตรการดังกล่าวไปแล้ว พบว่านอกจากรัฐบาลจะมิได้นำแนวคิดมาตรการเยียวยาแบบ “รวดเร็ว ครอบคลุม ทั่วถึง” ไปใช้เยียวยาประชาชนทุกกลุ่มแล้ว แต่กลับไปแยกกลุ่มประชาชนไปเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรคนจน กลุ่มโครงการไทยชนะ ซึ่งมีปัญหาว่ามาตรการยุ่งยาก ต้องใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน จนทำให้กลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นปัญหาตกหล่นไป พรรคเพื่อไทยจึงยังคงเสนอให้เยียวยาประชาชนด้วยเงินสด
นอกจากนี้ กลุ่มประกันสังคม มาตรา 33 คือผู้จ่ายเบี้ยประกันสังคมที่จ่ายเบี้ยประกัน ควรมีมาตรการเยียวยากลุ่มเหล่านี้เป็นเงินสด จำนวน 5,000 บาท และจ่ายเพียงครั้งเดียว ส่วนประเด็นโครงการรัฐที่มีการโอนเงินเป็นงวดๆ งวดละ 700 บาท รวม 5 งวด รวมเป็นเงิน 3,500 บาท เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณใช่หรือไม่จึงไม่สามารถโอนเงินได้ทันทีทั้งหมด
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวถึงประเด็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า รัฐบาลจะต้องจัดหาวัคซีนให้รวดเร็วกว่านี้ เพราะการให้วัคซีนที่ล่าช้าทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง และต้องนำเข้าวัคซีนเสรี ในราคาไม่แพง เป็นหลักประกันให้ประชาชนได้มั่นใจ
ด้าน นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กล่าวถึงปัญหาการจัดการศึกษาของนักเรียน ผู้ปกครอง จากกรณีเปิดเรียนเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่า จากการรับฟังปัญหาจาก ส.ส.ทุกพื้นที่ พบว่ารัฐบาลมีคำสั่งเปิดเรียนโดยไม่มีมาตรการรองรับเพียงพอ ยกตัวอย่างเมื่อคราวมีคำสั่งให้ปิดการเรียน ก็มิได้มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่ว่า กลุ่มพื้นที่ใดมีความเสี่ยงต่ำที่สามารถเปิดเรียนได้เพื่อลดผลกระทบ กลุ่มพื้นที่ใดมีความเสี่ยงสูงควรหยุดเรียน และเมื่อมีคำสั่งเปิดเรียนก็สั่งให้เปิดทั้งหมด เมื่อไม่มีการจัดคลัสเตอร์ว่าพื้นที่ใดควรปิด หรือที่ใดควรเปิดอย่างไร หากรัฐบาลเตรียมความพร้อมมากกว่านี้ ในพื้นที่ที่ควบคุมการระบาดได้ก็ควรจะเปิดการเรียนได้
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจให้เปิดเรียน ก็มีการตัดสินใจแบบกระท่อนกระแท่น เป็นการจัดการแบบไม่มีแผนงาน ไม่มีงบประมาณ ให้โรงเรียนไปจัดการเองลำพังทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งย้อนกลับไปว่าตอนกู้เงินว่าจะนำไปใช้เรื่องโควิด แต่กลับไม่มีงบประมาณลงมาจัดการด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเลย นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองว่า โรงเรียนเอกชนซึ่งไม่ได้จัดการเรียนการสอน ก็มิได้มีมาตรการช่วยเหลือลดค่าเทอม แม้โรงเรียนบางแห่งจะมีมาตรการภายในเช่นลดค่าเล่าเรียนลง 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นมาตรการของโรงเรียนแต่ไม่ใช่มาตรการชัดเจนจากรัฐที่ควรรับภาระดูแลให้ชัดเจน มากกว่านั้นเมื่อนักเรียน เรียนออนไลน์ กลับกลายเป็นภาระผู้ปกครองต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ ติดตั้งอินเทอร์เนต เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมให้ผู้ปกครอง ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ปกครองว่ารัฐบาลและโรงเรียนมีความพร้อมเปิดเรียนอย่างเต็มระบบ เพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพ จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลต้องจริงจังกับการเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนให้พร้อม และขอให้รัฐบาลต้องมีมาตรการชดเชย ให้ผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบด้านนี้ ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน และสถานศึกษาอย่างชัดเจน