เพื่อไทยร่วมเวที UN ชี้การจัดการโควิด-19 รัฐไทยทำภาคแรงงาน-การศึกษา ที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้วถูกโจมตีอย่างไร้เกราะกำบัง แนะเร่งช่วยภาคแรงงาน เยียวยาผู้ปกครอง
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (3 กุมภาพันธ์ 2564) กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมระหว่างประเทศของพรรคการเมืองในเอเชียโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ ICAPP Youth Wing ซึ่งจัดโดยสหประชาชาติ (UN) ว่าภาคแรงงานของไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก เนื่องจากแรงงานในภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้รับความเสียหายสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก จากการประกาศล็อกดาวน์ประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดลง ธุรกิจสายป่านสั้นปิดกิจการ พรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้านได้นำเสนอ “มาตรการคงการจ้างงาน” เพื่อป้องกันภาคเอกชนล้มละลาย ซึ่งจะเป็นกลไกในการป้องกันการพังลงของตลาดแรงงาน แต่รัฐบาลไม่นำไปปรับใช้จนทำให้ตลาดแรงงานซึ่งเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ถูกโจมตีอย่างไร้เกราะกำบัง ดังนั้นมาตรการที่จะช่วยภาคเศรษฐกิจเดินต่อได้คือการเร่งช่วยภาคแรงงานรายย่อยอย่างเร่งด่วน

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไทย มุ่งเน้นการจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิต แต่ไม่ได้ดูแลการศึกษาของเยาวชน เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ถูกปิด ทำให้มีนักเรียน-นักศึกษา หลุดนอกระบบการศึกษามากขึ้น แม้จะทำการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเรียนในห้องเรียน ทั้งนี้จากการศึกษาเกี่ยวกับ “ผลกระทบเรียนออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ พบว่า มีเด็กนักเรียนสังกัด สพฐ. ประมาณ 80,000 คน ยังมีไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงบ้าน จึงเป็นไปไม่ได้ที่นักเรียนเหล่านี้จะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนออนไลน์ ตราบใดที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ นอกจากนี้ในการปิดสถาบันการศึกษาที่ผ่านมา รัฐบาลควรคืนเงินรายหัวในส่วนของอาหารกลางวันที่หายไปจากการหยุดเรียนให้กับครอบครัวของเด็กด้วย

สำหรับการประชุม ICAPP Youth Wing (International Conference of Asian Political Parties Youth’s Wing) เป็นการประชุมระหว่างประเทศของพรรคการเมืองในเอเชียโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวม 30 คน จัดโดยสหประชาชาติ (UN) ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ กลไกการศึกษาและการคุ้มครองทางสังคมระหว่างและหลังโควิด-19 (Education and Social Protection Mechanisms During and After COVID-19)
บทความที่เกี่ยวข้อง

นายนพพล เหลืองทองนารา สส.พิษณุโลก เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ฤดูการผลิตปี 2567/2568 อันเนื่องมาจากราคาผลผลิตตกต่ำ และอภิปรายร่วมกับ สส.เพื่อไทย ประกอบด้วย นายรวี เล็กอุทัย สส.อุตรดิตถ์ นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย และนางฐิติมา ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา ร่วมอภิปรายญัตติดังกล่าวเพื่อรวบรวมปัญหา และข้อเสนอแนะเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาโดยด่วน
อ่านต่อ
มติคณะอนุกรรมการ นบข. กำหนด 3 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
อ่านต่อ