เยียวยาต้องไม่เหลื่อมล้ำ รัฐต้องเลิกสร้างเงื่อนไขการช่วยเหลือผู้ประกันตน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย (5 กุมภาพันธ์ 2564) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาลองค์กรอิสระองค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชนและกองทุน กล่าวถึงกรณีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีเงื่อนไขเป็นผู้มีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 500,000 บาท จึงได้รับการเยียวยาจากรัฐ สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกัน


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวว่า ตนในฐานะประธานกรรมาธิการฯ จะเร่งตรวจสอบ มาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกันตน ว่า การออกมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 500,000 บาท จะไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลตามโครงการ “ม.33 เรารักกัน” นั้น ตนเห็นว่า ถ้าคนทำประกันตนตามมาตรา 33 เป็นคนอดออม ประหยัดมัธยัสถ์ และเก็บเงินแค่เดือนละ 2,500 บาท เก็บเงินมา20 ปี มีเงินเก็บไว้ดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย เกิน 500,000 บาท ของเขาตรงนี้ และหากเป็นคนมีเงินเก็บก็ฝากบัญชีภรรยา แต่ภรรยาที่เป็นผู้ประกันม.33 แต่กลับกลายเป็นไม่ได้ได้การเยียวยาตามมาตรการของรัฐ เลยอยากถามว่ารัฐมนตรีคิดได้อย่างไร แม้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯ จะอ้างว่าเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง แต่มาตรการดังกล่าวเมื่อประกาศใช้แล้ว ประชาชนด่า ด่ามาที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึ่งมาตรการเยียวยานี้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในกลุ่มผู้ประกันตน ม.33 อีกด้วย


“แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับฉายาว่า นักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำแล้ว วันนี้ประชาชนยังรู้สึกว่านอกจากกู้เงินเก่งแล้ว แต่กลับใช้เงินไม่เป็น เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทยอีกด้วย ตนจึงขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีอย่าซ้ำเติมประชาชน ด้วยวิสัยทัศน์เช่นนี้ในช่วงภาระโควิดอีก” นายจิรายุกล่าว