พรรคเพื่อไทย รับฟังปัญหาผู้ประกอบการท่องเที่ยว หาทางรับมือผลกระทบโควิด-19 พร้อมเปิดชุดมาตรการ “เปิด-ป้องกัน-ฟื้นฟู” เร่งฟื้นรายได้ประเทศก่อนล้มละลาย
(13 กุมภาพันธ์ 2564) คณะกรรมการนโยบายและวิชาการ พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาผ่าน Zoom หัวข้อ “ท่องเที่ยวไทย ทำอย่างไรให้ไปรอด” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ นายพัลลพ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ น.ส.ฐิติภัสร์ ศิรณัฐศรีกุล นายกสมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี พล.ต.ต.ปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ น.ส.สรัสนันท์ อัศวชัยโสภณ กรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคและผู้อำนวยการศูนย์นโยบายฯ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการพรรคประธานอนุกรรมการนโยบายท่องเที่ยว และ น.ส.รินทิรา วัฒนวงษ์ภิญโญ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 3

ทั้งนี้ ตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับภาคเอกชนเป็นอย่างมากธุรกิจภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมที่พักปิดตัวไปมากกว่า 50% ขณะที่การเยียวยาภาครัฐไม่เคยมาถึงภาคท่องเที่ยวทั้งที่เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ทั้งนี้ภาคเอกชนมองว่า จากนี้ไปภาครัฐควรสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านแนวคิด Quality than Quantity หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาพำนักในไทยได้นานขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ จากเดิมการท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณ ยอดใช้จ่ายการท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 ต่อคนต่อเที่ยว หากปรับมาเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพจะเพิ่มยอดใช้จ่ายท่องเที่ยวเป็น 7,000-8,000 บาท รวมทั้งเปิดให้สายการบินเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้มากขึ้น หากสามารถปรับแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพไปพร้อมกับการเพิ่มเที่ยวบิน จะช่วยให้จังหวัดมีรายได้มากขึ้น รวมถึงการเยียวยาให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย การกระตุ้นการท่องเที่ยวันธรรมดา และปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เสนอทางออกของภาคท่องเที่ยวไทย ภายใต้ชุดมาตรการ “เปิด-ป้องกัน-ฟื้นฟู” ได้แก่
- “เปิด”
เปิดประเทศผ่านมาตรการ “วัคซีนพาสปอร์ต” (Vaccine Passport) โดยสนับสนุนให้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ต้องผ่านการกักตัว ภายใต้เงื่อนไขหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยยึดหลักรักษาสมดุลระหว่างการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวและความปลอดภัยด้านสาธารณสุข
- “ป้องกัน”
ป้องกันภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวล้มละลาย โดยปรับเงื่อนไขและกลไกของ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ให้สามารถใช้ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการปล่อยสิน” เชื่อแทนธนาคารพาณิชย์ในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมรับความเสี่ยงได้ รวมทั้งยกระดับบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อภาคท่องเที่ยว ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้มากขึ้น
ป้องกันแรงงานภาคท่องเที่ยวตกงาน โดยใช้ “มาตรการคงการจ้างงาน” โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างโดยจ่ายตรงไปยังนายจ้าง ส่งต่อไปยังลูกจ้างที่ 50-60% โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงานที่ 90%
- “ฟื้นฟู”
“โยกงบฟื้นฟู 100,000 ล้านบาท” สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ภายใต้มาตรการ “1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยวใหม่” รวมทั้งบูรณะแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมสภาพที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างจุดหมายแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เพราะแหล่งท่องเที่ยวคือแหล่งรายได้ มาตรการนี้ยังช่วยเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพจำนวนมหาศาลในพื้นที่ และดูดซับแรงงานที่ตกงานจากวิกฤติโควิด-19 และสร้างความเจริญให้ประเทศในระยะยาวอีกด้วย

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย ยังเสนอก่อตั้ง “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว” เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลัก สำหรับการให้สินเชื่อภาคท่องเที่ยวและบริการในระยะยาว เพราะธุรกิจท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศ แต่ลักษณะธุรกิจมีความไม่เป็นทางการสูง อยู่นอกระบบ รายได้แปรปรวนตามฤดูกาลและภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบปกติ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐในการกำหนดยุทธศาสตร์ และทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านทิศทางการให้สินเชื่ออีกด้วย
ทั้งนี้ข้อเสนอของภาคเอกชนทั้งหมดและมาตรการของพรรคเพื่อไทยจะถูกนำไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบของภาคท่องเที่ยวจากการระบาดของโควิด-19 ให้เกิดผลจริงต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

นายนพพล เหลืองทองนารา สส.พิษณุโลก เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ฤดูการผลิตปี 2567/2568 อันเนื่องมาจากราคาผลผลิตตกต่ำ และอภิปรายร่วมกับ สส.เพื่อไทย ประกอบด้วย นายรวี เล็กอุทัย สส.อุตรดิตถ์ นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย และนางฐิติมา ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา ร่วมอภิปรายญัตติดังกล่าวเพื่อรวบรวมปัญหา และข้อเสนอแนะเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาโดยด่วน
อ่านต่อ
มติคณะอนุกรรมการ นบข. กำหนด 3 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
อ่านต่อ