“สุทิน คลังแสง” ย้ำ “พรรคเพื่อไทย” อภิปรายไม่ไว้วางใจ หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน
(16 กุมภาพันธ์ 2564) ดร.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดย ดร.สุทิน เริ่มต้นอภิปรายประเด็นเศรษฐกิจตกต่ำว่าปัจจุบันนี้เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนเต็มไปด้วยความยากลำบาก ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญคือ ตัวเลขหนี้ต่างๆ วันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า หนี้ประเทศวันนี้สูงขึ้น, หนี้ครัวเรือนก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ, สถาบันการเงินเกิดหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลจำนวนมาก รวมไปถึงหนี้นอกระบบของชาวบ้าน ที่สร้างปัญหาให้ประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรีกลับไปดูชาวบ้านว่าวันนี้ลำบากแค่ไหน เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ ย่อมมีปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ยาเสพติด บ่อนการพนันเต็มเมืองกลายเป็นสังคมบ่อนเต็มเมืองยาเสพติดเต็มเมือง
ประเด็นการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลปล่อยให้เกิดปัญหาแรงงานต่างชาติเถื่อนหลบหนีเข้าเมืองและนำเชื้อโรคมาระบาดครั้งใหญ่ ลามไปถึงในบ่อนการพนัน เรื่องการจัดหาวัคซีนก็ล่าช้า อ้างว่ามีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายทำให้นำเข้ายาวัคซีนช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านได้วัคซีนป้องกันโควิดกันหมดแล้วเหลือแต่ประเทศไทย แต่พอเอกชนจะนำเข้าเองก็ไม่อนุญาต
ประเด็นการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ ชัดเจนว่าแม้แต่ในหน่วยงานภาครัฐเช่นกองทัพ รวมไปถึงองค์การคลังสินค้าก็มีปัญหาเรื่องทุจริตถุงมือยาง ซึ่งรัฐมนตรีชี้แจงเหมือนไม่ได้ชี้แจง บริหารประเทศกันไปแบบมั่วๆ งงๆ โกลาหลวุ่นวาย ดูได้จากประชาชนไปยืนต่อคิวลงทะเบียนยืนยันสิทธิ์โครงการเราชนะ ที่มีประชาชนหลายพันไปยืนต่อคิวยาวหลายกิโลเมตรเพื่อรอลงทะเบียน จนคนไม่ได้สิทธิ์ออกมาร้องไห้เต็มไปหมด
ประเด็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็พบว่ามีทุจริตเชิงนโยบาย เช่นกรณีนโยบายประกันสินค้าราคาเกษตร ที่เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายประกันราคา ก็ทำให้พ่อค้าลดราคาเพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณมาใช้จ่ายในการประกันราคา เช่นสินค้าเกษตรราคา 9 บาท แต่เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายประกันราคาสินค้าแล้ว พ่อค้ารีบกดราคาสินค้าลงเหลือ 6 บาทเพื่อให้เกิดส่วนต่างเปิดช่องให้รัฐบาลต้องอุดหนุนประกันราคาสินค้า เป็นการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินส่อไปในทางไม่โปร่งใส ไม่มีใบเสร็จ
ประเด็นรัฐมนตรีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น รัฐมนตรีชุดนี้ได้รับประโยชน์ จากการที่ไม่ต้องชี้แจงการยื่นบัญชีทรัพย์สิน แม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า รัฐมนตรีผู้พ้นตำแหน่งและเข้ารับตำแหน่งใหม่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือนไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่ในกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ห้ามแสดงทรัพย์สิน ซึ่งรัฐมนตรีทั้ง 7 ท่าน คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายดอน ปรมัติวินัย รมว.การต่างประเทศ และ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ก็ควรจะมีจริยธรรมขั้นสูงสุดในฐานะผู้บริหารประเทศที่ควรสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนได้ตรวจสอบ
ประเด็นการเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องของรัฐบาล โดยกล่าวถึงโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์) ที่เอกชนถูกยกเลิกสัญญาและรัฐต้องจ่ายค่าเสียหาย 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีช่องทางออกสองทางคือ รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชน หรือจะใช้วิธีการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด และเรียกค่อเสียหายต่ออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ในฐานะผู้ยกเลิกสัญญาก่อสร้างโฮปเวลล์ในสมัยนั้น ซึ่งประเด็นคือ คดีดังกล่าวกำลังจะหมดอายุความในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินจ่ายค่าเสียหายและปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องรอดพ้นการรับผิดชอบ ไม่ฟ้องร้องนายสุเทพ เพราะถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณส่งเสียให้พลเอกประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
ประเด็นเหมือนทองอัครา ว่าพรรคฝ่ายค้านโดยนางสาวจิราพร สินธุไพร มีหลักฐานข้อมูลชัดเจนลึกลงไปถึงหนังสือคำสั่งต่างๆ ที่มีการพูดคุยเจรจากับผู้ได้รับสัมปทาน ให้ถอนฟ้องพลเอกประยุทธ์ โดยแลกกับการให้สัมปทานที่ดินเพื่อขุดเจาะทองคำเพิ่มเติมอีกหลายแสนไร่ ซึ่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะได้อภิปรายต่อไปตามลำดับ
“การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ครั้งนี้ หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยแบ่งความหวังไว้ 3 ระดับ คือ ระดับแรก หวังให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีได้เปลี่ยนวิธีคิด มุมมองและการทำงาน ระดับสอง คืออยากชี้ให้ประชาชนและนายกฯ เห็นว่ารัฐมนตรีของท่านที่ถูกอภิปราย 9 คนนี้ เป็นจุดอ่อนที่ท่านต้องปรับออกไปและหาคนมีความรู้ความสามารถมาทำงาน และระดับสูงสุดคือ หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ จะถือเป็นความล้มเหลวจึงควรต้องพิจารณาตนเอง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป” นายสุทิน กล่าว