ประยุทธ์พร้อมแล่เนื้อเถือหนังประเทศทีละชิ้น จนกว่าคิงส์เกตจะพอใจจนเขาถอนฟ้อง : จิราพร สินธุไพร

(17 กุมภาพันธ์ 2564) นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประเด็นความผิดพลาดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีใช้อำนาจ ม.44 ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่งผลให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอยู่ในรอยต่อจังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิษณุโลกต้องยุติกิจการและฟ้องร้องราชอาณาจักรไทย ผ่านกลไกความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และมีแนวโน้มสูงว่าประเทศไทยจะแพ้คดี และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับคิงส์เกตฯ หรือที่หลายท่านเรียกว่า “ค่าโง่” สูงถึง 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสูงถึง 22,500 ล้านบาท


นางสาวจิราพร กล่าวต่อว่า ภายหลังการใช้อำนาจ ม.44 แล้ว หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งผลตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ อก0502/2016 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เอกสารลับฉบับนี้ มีสาระสำคัญว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่?”

จากนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาครั้งที่ 1/2559” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุมดีบุก ชั้น 2 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ปรากฏว่าในรายงานหน้าที่ 2 มีรายละเอียดที่ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงและให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีการใช้ ม.44 ในการดำเนินการแก้ปัญหาเหมืองทองว่า “การใช้มาตรา 44 โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของประเทศ จึงไม่เห็นด้วยกับการนำมาตรา 44 มาใช้บังคับในกรณีดังกล่าว”

และนอกจากนี้ ยังมีความเห็นของผู้แทนกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมอเมริกาและแปซิฟิก จากกระทรวงการต่างประเทศ เห็นตรงกันว่า “การใช้มาตรา 44 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศในด้านความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบการจากออสเตรเลีย แต่รวมไปถึงผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วโลก”

ซึ่งจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานรัฐทั้งหมดได้ถูกนำเรียนนายกรัฐมนตรี พร้อมรายละเอียดสรุปความเห็นชัดเจนว่า “หน่วยงานไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบต่างๆ เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำหรือไม่ และที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานราชการหรือสถาบันใดกล้ายืนยัน หรือให้การรับรองว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ” ซึ่งจากการใช้อำนาจ 44 ของพลเอกประยุทธ์ ชี้ให้เห็นถึงความชอบธรรมการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์อย่างไร้ความรับผิดชอบจนเกิดผลกระทบต่อประเทศ

เมื่อบริษัทคิงส์เกตฯ จะฟ้องประเทศไทยผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ ได้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด มีการประชุมครั้งที่ 2/2560 วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมโพแทซ ชั้น 2 อาคารกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งในที่ประชุมว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าทางเลือกในกรณีที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก เนื่องจากคำสั่ง คสช. อาจถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติภายใต้ TAFTA ประกอบกับยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการทำเหมืองตามกรณีข้อพิพาทฯ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยถูกตัดสินให้ต้องชดเชยทางการเงินให้แก่บริษัท คิงส์เกตฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านกฎหมายเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยด้วย”

เมื่อมีการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์ ไม่เคยเปิดเผยถึงค่าโง่หรือมูลค่าความเสียหายที่ไทยต้องชดใช้ จึงต้องเทียบเคียงกับคำพิพากษาที่ใกล้เคียงที่สุดคือ คือคำชี้ขาดคดีเหมืองทอง Venezuela ซึ่งมีลักษณะคดีคล้ายคลึงกับคดีคิงส์เกตฯ มากที่สุดที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และสุดท้ายประเทศเวเนซูเอล่าแพ้คดีต้องชดใช้เงินแก่บริษัทเอกชนถึง 4.2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบเคียงกับไทย ถ้าอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด (award) ให้ประเทศไทยแพ้คดี ไทยอาจต้องแบกรับความเสียหายที่มากกว่า 22,500 ล้านบาทแน่นอน ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรา 44 ในครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์จึงไม่มีสิทธิเอางบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีพี่น้องประชาชนแม้แต่สลึงเดียวไปจ่าย

เมื่อมีแนวโน้มเชื่อได้ว่า ประเทศไทยอาจแพ้คดีคิงส์เกต กับบริษัท อัคราฯ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ คือการให้บริษัทอัคราฯ ได้รับอนุญาตขายผงทองคำและเงิน และได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเพิ่มในครั้งนี้ “ไม่ใช่การให้แบบปกติ แต่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้กับบริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อแลกกับการให้คิงส์เกตถอนฟ้อง!” พร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อขึ้นมาประนีประนอมยอมความกับบริษัทคิงส์เกตฯ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีหนังสือ ลับที่สุด ด่วนที่สุด ที่ อก 0507/ล 3044 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมการเจรจากับบริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุม ในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรีในวันนั้นปรากฏอยู่ใน เอกสารลับที่สุดรายงานการประชุมของ คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ครั้งที่ 20/2563 วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมดีบุก ชั้น 2 อาคารกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ความว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอในการให้ราชอาณาจักรไทยเข้าร่วมการหารือ ก่อนกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (pre-mediation) และเข้าร่วมกระบวนการไกลเกลี่ยข้อพิพาท (mediation) กับบริษัท คิงส์เกตฯ หากตกลงกันได้ บริษัท คิงส์เกตฯ จะต้องยอมถอนคดีออกจากชั้นอนุญาโตตุลาการ”

มากกว่านั้น พบว่าหลังการเจรจาระหว่างไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ เพียงแค่ 1 สัปดาห์ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เจ้าหน้าที่บริษัทอัคราฯ ได้เข้าพบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อหารือเกี่ยวกับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบคำขออนุญาตต่างๆ และต่อมา วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 บริษัทอัคราฯ ได้มีหนังสือเลขที่ AKR-PLC/071/20 ถึง อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอแก้ไขและนำส่งแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ทองคำสำหรับคำขออาชญาบัตรพิเศษจำนวน 44 แปลง ถัดจากนั้นวันที่ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 บริษัท อัคราฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่ทั้งหมดกว่า 397,226 ไร่ ไม่ใช่แค่ได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ แต่จากในรายงานของบริษัท คิงส์เกตฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดระบุว่าบริษัทอัคราฯ ยังมีใบอนุญาตการทำเหมืองแร่ รวมถึงคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ในจังหวัดชลบุรี ลพบุรี พิจิตร พิษณุโลก ระยอง สระบุรี ที่เคยขอค้างไว้หลายรายการ รวมที่เนื้อกว่า 579,551 ไร่ และยังไม่ได้รับการอนุมัติจากไทย และปรากฎว่าฝ่ายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เองก็พร้อมที่จะดำเนินการตามที่บริษัทอัคราฯ ร้องขอ ทั้งหมดดังกล่าวนี้ คือการยอมแร่เนื้อเถือหนังประเทศ ทีละชิ้นๆ จนกว่าบริษัทคิงส์เกตฯ จะพอใจเพื่อให้เขาถอนฟ้อง

ดังนั้น เอกสารหลักฐานที่ได้แสดงต่อสภาฯ ก็ชี้ชัดว่าพลเอกประยุทธ์บัญชาการมาตั้งแต่ต้น และรับรู้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นท่านปัดความรับผิดชอบนี้ไปไม่ได้ วันนี้จึงมีคำถามถึงนายกรัฐมนตรีว่า
1) สรุปแล้วท่านจะสู้คดีให้ถึงที่สุดแบบไปตายเอาดาบหน้า หรือ ท่านจะยอมเอาทรัพยากรของประเทศไปประเคนให้ต่างชาติเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง?
2) ถ้าท่านเดินหน้าสู้คดีจนถึงที่สุด แล้วแพ้ขึ้นมา ท่านจะเอาเงินส่วนไหนไปจ่าย ท่านจะเอางบประมาณแผ่นดิน หรือเงินส่วนตัวของท่าน
3) ถ้าท่านไม่จ่ายเป็นจำนวนเงิน แต่ใช้วิธีเอาทรัพยากรและแผ่นดินของชาติไปมอบให้เค้า วิธีนี้ท่านต้องประเคนให้เขาเท่าไหร่ถึงจะพอให้เขายอมถอนคดี?

ทั้ง 3 แนวทางนี้ ไม่มีเสมอ มีแต่แพ้กับชนะ แต่แนวโน้ม 90% คือประเทศไทยแพ้คดี บทสรุปของคดีเหมืองทองอัคราฯ คือ สุดท้ายแล้วอย่างไรประเทศไทยก็ต้องจ่ายค่าโง่ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะจ่ายในรูปแบบการแพ้คดี หรือต้องจ่ายในรูปแบบของการเอาทรัพยากรของประเทศไปแลก ซึ่งในกรณีนี้อาจจะเป็นมูลค่าที่มากมายมหาศาลมากยิ่งกว่าค่าโง่ และเป็นการเอาไปแลกเพื่อคนคนเดียว คือ แลกกับการให้พลเอกประยุทธ์เอาความผิดออกจากตัวเอง เพื่อรักษาอำนาจ รักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แล้วโยนภาระบาปให้ประเทศและประชาชนต้องมารับผิดชอบแทน ดังนั้น คดีเหมืองทองอัครา คือใบเสร็จความเสียหายชิ้นสำคัญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

“คดีเหมืองทองอัคราฯ พลเอกประยุทธ์เป็นคนเริ่มต้นด้วยตัวเอง ในประเทศนี้มีพลเอกประยุทธ์คนเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จใช้มาตรา 44 นี้ ได้ออกคำสั่งที่กำลังจะทำลายประเทศจนย่อยยับ สร้างคดีที่เป็นตราบาปให้กับประเทศไทย ทำลายโอกาสของประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี และด้วยความผิดอันใหญ่หลวงนี้ ดิฉันจึงไม่อาจไว้วางใจให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ต่อไปแม้แต่วินาทีเดียว” นางสาวจิราพร กล่าวสรุป